วันเสาร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2556

เปิดบันทึก"ดีเอสไอ" แจ้งข้อหา"สุขุมพันธุ์-ธีระชน" ต่อสัญญารถไฟฟ้ามิชอบ


BangkokElection2013 (วันที่ 12 มกราคม 2555) - หมายเหตุ - บันทึกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แจ้งข้อกล่าวหา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และนายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯกทม. คดีทำสัญญาว่าจ้างการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ระหว่าง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ซึ่งทั้งสองเข้ารับทราบข้อกล่าวหา เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 9 มกราคม มีสาระสำคัญดังนี้

คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และพนักงานอัยการที่ร่วมสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ผู้ต้องหาทราบว่า เมื่อวันที่ 2 และวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 ผู้บริหาร กทม.และผู้เกี่ยวข้องได้ร่วมกันลงนามในสัญญาจ้างโครงการบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ตามสัญญาเลขที่ 1/2555 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 และร่วมกันลงนามในสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครตามสัญญาเลขที่ กธ.ส.006/55 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 แบบสัญญาเดียว (เริ่มต้นสัญญา 3 พฤษภาคม 2555 สิ้นสุดสัญญา 2 พฤษภาคม 2585)

สาระสำคัญของสัญญาเป็นการดำเนินการใดๆ ที่มีผลเป็นการแก้ไขหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขในสัญญาสัมปทานเดิม โดยเฉพาะการขยายอายุสัญญา มีข้อความบางส่วนในสัญญาใหม่ให้มีผลเป็นการต่ออายุสัญญาสัมปทานเดิมไปอีก 13 ปี ทั้งที่ยังมีอายุสัญญาเหลืออีก 17 ปี และเป็นการขยายเส้นทางสายใหม่ใน 3 เส้นทาง คือ 1.เส้นทางส่วนต่อขยายสายสีลม จากสถานีสะพานตากสิน ถึงถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ระยะทาง 2.2 กิโลเมตร 2.เส้นทางส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ตอนที่ 1 จากซอยสุขุมวิท 85 ถึงซอยสุขุมวิท 107 ระยะทาง 5.25 กิโลเมตร 3.เส้นทางส่วนต่อขยายสายสีลม (ตากสิน-เพชรเกษม) จากสถานีวงเวียนใหญ่ (S8) ถึงสถานีตลาดพลู (เดิมชื่อสถานีรัชดา-ราชพฤกษ์) (S10) ระยะทาง 5.3 กิโลเมตร รวมระยะทางใหม่ 12.75 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่สร้างขึ้นใหม่จากงบประมาณของทางราชการเชื่อมกับสัมปทานเดิม เมื่อประกอบกิจการรถรางต้องได้รับอนุญาตหรืออนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสียก่อน

การจัดให้มีการร่วมลงนามในสัญญาบริหารโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 และสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 เป็นผลมาจากการดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนของกรุงเทพมหานคร ส่วนต่อขยายซึ่งเป็นระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้า) ชนิดขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าวิ่งบนรางคู่ยกระดับสูงจากพื้นดิน มีลักษณะเป็นรถราง ย่อมส่งผลให้สัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามโครงการระบบขนส่งมวลชนของ กทม. ในส่วนต่อขยายเป็นการดำเนินการที่มีลักษณะเป็นกิจการรถราง ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจและหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย ตามข้อ 3 และ 11 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 58

อีกทั้งโครงการระบบขนส่งมวลชนของ กทม.ที่ได้ดำเนินการเมื่อปี พ.ศ.2535 เป็นกิจการเกี่ยวกับรถรางซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเคยอนุมัติให้สัมปทานตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 เช่นกัน

ดังนั้น การที่ กทม.ทำสัญญาจ้าง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด บริหารโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 ต่อมาบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้ทำสัญญาจ้างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง ตามสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2555

จึงเป็นการดำเนินการที่มีลักษณะเป็นกิจการรถรางซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยโดยเฉพาะ และตามสัญญามีลักษณะเป็นการอนุญาตหรือให้สิทธิสัมปทานแก่เอกชนล่วงหน้าในระยะยาว โดยไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้กระทำได้ แม้ว่าสัญญา

ทั้งสองฉบับจะอ้างชื่อว่าเป็นสัญญาจ้างทำของหรือสัญญาประเภทใดๆ ก็ตาม และจากการตรวจสอบยังไม่ปรากฏว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้เคยอนุญาตหรือให้สัมปทานในการดำเนินการเกี่ยวกับสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวแต่อย่างใด

ทำให้สัญญาทั้งสองฉบับย่อมฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งเป็นข้อตกลงที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมาย ตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 150 เพราะสัญญาไม่อาจเกิดขึ้นจากการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมาย ก่อนหรือขณะกระทำผิดหรือหลังกระทำผิด

ผู้ต้องหาดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าฯกทม. ในขณะนั้นเป็นเพียงผู้ได้รับมอบหมายให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่และมีหน้าที่รับผิดชอบในการปฏิบัติการควบคุม ดูแลให้เป็นไปตามกรอบกำหนดของสัญญาสัมปทานที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอนุมัติไว้เท่านั้น จึงได้รู้หรือมีเหตุอันควรรู้บทบาทในอำนาจหน้าที่ของตนว่ามีขอบเขตมากน้อยเพียงใด กลับยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้มีการทำสัญญาทั้งสองฉบับ ทั้งๆ ที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย แต่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่กำหนดไว้โดยเฉพาะ ประกอบกับเป็นโครงการที่ต้องใช้จ่ายเงินค่าจ้างในสัญญาจ้างทั้งสองฉบับ จากงบประมาณแผ่นดินสูงถึง 190,000 ล้านบาท

ตามวิสัยและพฤติการณ์ถือได้ว่ามีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจ ในฐานะเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนให้มีการกระทำความผิดตามกฎหมายขึ้น และเป็นการปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ในฐานะส่วนตัว ร่วมกับเอกชนผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้รับสิทธิอนุญาตหรืออนุมัติสัมปทานของรัฐที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

การกระทำของผู้ต้องหากับพวกมีพยานหลักฐานตามสมควรว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ผู้ต้องหา กับผู้บริหาร BTSC ได้ร่วมกันกระทำผิดตามข้อกล่าวหาอันเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดในข้อหาว่า ร่วมกันประกอบกิจการค้าขายอันเป็นสาธารณูปโภค (กิจการรถราง) โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือได้รับสัมปทานจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ข้อ 3, 4 และข้อ 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59, 83,84 และมาตรา 86 เหตุเกิดที่สำนักงานการจราจรและขนส่งกรุงเทพมหานคร เลขที่ 44 ถนนวิภาวดีรังสิต เขตดินแดง กทม. และท้องที่ที่เกี่ยวพันกัน

สำหรับพฤติกรรมในการแจ้งข้อหากล่าวหานายธีระชน คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้บรรยายพฤติกรรมประกอบความผิดเช่นเดียวกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์

โดยคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้แจ้งข้อกล่าวหานายธีระชนว่า ขณะนั้นนายธีระชนดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าฯกทม.เป็นผู้เห็นชอบและลงนามปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ความเห็นชอบโครงการบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2555 อันนำไปสู่การลงนามในสัญญาว่าจ้างการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ตามสัญญาเลขที่ กธ.ส.006/55 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 โดยฝ่าฝืนกฎหมาย และเป็นการปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในฐานะส่วนตัว พฤติการณ์การกระทำของผู้ต้องหากับพวก มีพยานหลักฐานตามสมควรว่า ผู้ต้องหากับผู้เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันกระทำผิดตามข้อกล่าวหาอันเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน

การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดในข้อหาว่า ร่วมกันประกอบกิจการค้าขายอันเป็นสาธารณูปโภค (กิจการรถราง) โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือได้รับสัมปทานจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ข้อ 3,4 และข้อ 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 และมาตรา 83 เหตุเกิดที่สำนักงานการจราจรและขนส่งกรุงเทพมหานคร เลขที่ 44 ถนนวิภาวดีรังสิต เขตดินแดง กรุงเทพฯ และท้องที่ที่เกี่ยวพันกัน


(ที่มา:มติชนรายวัน 10 ม.ค.2556)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น