วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

ตรวจสนาม! เลือกตั้งผู้ว่าฯ ฝ่ายใหนเล็งส่งใคร?


BangkokElection2012: สมรภูมิการเมืองระหว่าง 2 ขั้ว 2 พรรค พรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ เตรียมปะทะกันดุเดือดอีกหนในนัดล้างตา เลือกตั้งผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร ในอีก 6 เดือนข้างหน้า

สนามกรุงเทพมหานคร ที่ประชาธิปัตย์ครองแชมป์ทั้งสนามใหญ่ สนามเล็ก

ครอบครอง ส.ส.จำนวน 23 ที่นั่ง จากทั่วฟ้าเมืองอมร ที่มีเก้าอี้ทั้งหมด 33 เขตเลือกตั้ง

ครอบครองเก้าอี้พ่อเมือง-ผู้ว่าฯกรุงเทพ มหานคร ด้วยชื่อชั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ด้วยคะแนนเสียง 934,602 คะแนน ขึ้นสู่ตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2552

จากสถิติการเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร ทุกระดับ 4 ปีที่ผ่านมา พบว่า "พรรคประชาธิปัตย์" มีชัยชนะ "พรรคเพื่อไทย" ทุกครั้ง

ตั้งแต่ "ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์" ได้รับเลือกให้เป็นผู้ว่าฯ ทิ้งห่างอันดับ 2 คือ "ยุรนันท์ ภมรมนตรี" จากพรรคเพื่อไทย ที่ได้คะแนน 611,669 กว่า 3 แสนคะแนน

ขณะที่สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ที่มีการเลือกตั้งเมื่อ 29 สิงหาคม 2553 ปรากฏว่า "พรรคประชาธิปัตย์" กวาดที่นั่ง ส.ก.ไปถึง 45 ที่นั่ง จากจำนวน ส.ก.ทั้งหมด 61 ที่นั่ง "พรรคเพื่อไทย" ได้ 15 ที่นั่ง และอิสระ 1 ที่นั่ง

ส่วนการเลือกตั้งสนามใหญ่เมื่อ 3 กรกฎาคม 2554 แม้ "พรรคประชาธิปัตย์" จะแพ้ผลการเลือกตั้งในภาพรวม แต่ก็เอาชนะ "พรรคเพื่อไทย" ได้ในสนาม กทม. โดยได้ ส.ส. 23 ที่นั่งต่อ 10 ที่นั่ง ล่าสุดการเลือกตั้งซ่อม ส.ก.ดอนเมือง เมื่อ 2 กันยายนที่ผ่านมา "กนกนุช นากสุวรรณภา" ส.ก.จาก "พรรคประชาธิปัตย์" สามารถโค่นบัลลังก์แชมป์เก่า ซึ่งเป็นฐานของ "การุณ โหสกุล" ส.ส.กทม. เขตดอนเมือง พรรคเพื่อไทย ได้อย่างพลิกความคาดหมาย โดยได้ 12,858 คะแนน ชนะ "ประเวศร์ วัลลภบรรหาร" จากพรรคเพื่อไทย ได้ 10,224 คะแนน

ความพ่ายแพ้ 4 ระดับ ทั้ง ส.ส.-ผู้ว่าฯ กทม.-ส.ก. และเลือกตั้งซ่อม ส.ก.ล่าสุด ทำให้ศึกชิงผู้ว่าฯ กทม.ระอุเดือดข้นยิ่งขึ้น

ประชาธิปัตย์ หนุน "สุขุมพันธุ์" ดันผลงานแก้น้ำท่วม

ฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ครองเก้าอี้ผู้ว่าฯมาแล้ว 3 สมัย ในรอบ 8 ปี

ล่าสุด "ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร" เริ่มส่งสัญญาณว่าจะลงชิงตำแหน่งในสมัยหน้า ในนามพรรคอีกครั้ง

เขาหาเสียงล่วงหน้าทันทีว่า หากได้รับตำแหน่งอีกครั้งจะเดินหน้าโครงการครัวฮาลาล และต่อยอดโรงพยาบาลเพื่อผู้สูงอายุ

"ผมจะทำโครงการครัวฮาลาลเพิ่มอีก 1 แห่ง ที่โรงพยาบาลสิรินธร เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวตะวันออกกลาง ผมคาดว่าจะช่วยสร้างอาชีพให้กับพี่น้องที่นับถือศาสนาอิสลามได้มากขึ้นด้วย"

"หากต้องลงสมัครอีกครั้ง ผมขอแข่งขันแบบพื้นราบ อย่าให้ขึ้นเขาสูงตลอดเวลา ขอให้มีความเท่าเทียมระดับเดียวกัน"

แม้จะเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนของ "คุณชาย" แต่ธรรมชาติของพรรค ไม่ว่าจะเลือกตั้งสนามเล็ก-ใหญ่ ต้องดำเนินการตามระเบียบขั้นตอนอย่างรัดกุม

ครั้งนี้ได้มอบหมายให้ "กรณ์ จาติกวณิช" อดีต รมว.คลัง ตรวจบัญชี สรรหาผู้เข้าร่วมประกวดชื่อแข่งกับ "ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์" ตามวิถีทางแห่งประชาธิปไตย



เบื้องต้นชื่อในโผ มีทั้งนายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ

นายกษิต ภิรมย์ อดีต รมว.ต่างประเทศ รวมถึงชื่อ "กรณ์" ด้วย ต่อมาจะถูกคัดกรองอีกรอบผ่านมือ "บัญญัติ บรรทัดฐาน" ในฐานะคณะกรรมการคัดเลือก เพื่อสรุปรายชื่อก่อนลงมติโหวตในที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคต่อไป

ด้วยกระบวนการที่มากขั้นตอน ทำให้จนถึงวินาทีนี้ ชื่อ "ตัวจริง" ที่จะลงสมัครครั้งต่อไปจึงไม่ชัดเจน

ดังนั้นอย่าแปลกใจ เมื่อถามถึงชื่อที่เข้าตากรรมการ "กรณ์" จึงสวนกลับทันทีว่า "ประเด็นมันชัดเจนอยู่แล้ว แต่ยังไม่ขอพูดมากตอนนี้"

หากถามถึงสัญญาณจากการชนะ ส.ก.ดอนเมือง เขาบอก "ทางการเมืองยังถือว่าสัญญาณนี้ยังไว้ใจไม่ได้"

"ผมคิดว่าไม่ได้ส่งสัญญาณอะไรกับเก้าอี้ผู้ว่าฯ ดอนเมืองเป็นแค่ 1 ใน 50 เขต ต้องทำงานกันอีกเยอะ แต่ก็นับว่ามีนิมิตหมายที่ดีพอสมควร"

เขาขยายภาพเพิ่มเติมว่า ประชาชนผิดหวังกับการบริหารน้ำของรัฐบาล ตั้งแต่การแก้ปัญหาน้ำท่วมในช่วงปลายปี 2554 ไล่มาจนถึงการเยียวยาที่เป็นไปอย่างล้มเหลวในช่วงปี 2555 ทั้งหมดคือเหตุผลที่ทำให้พรรคเอาชนะในพื้นที่ดอนเมือง

"ผมเชื่อว่าชาวบ้านให้โอกาสคนทำงานมากกว่าที่จะตัดสินใจว่าเป็นพรรคไหน ยิ่งน้ำท่วมก็เห็นชัดว่า พวกเราลงพื้นที่ไปช่วยพวกเขาค่อนข้างมาก ซึ่งสวนทางกับพรรคเพื่อไทย"

ด้าน "อภิรักษ์ โกษะโยธิน" ในฐานะอดีตผู้ว่าฯ 2 สมัย วิเคราะห์ในทางเดียวกันว่า ปชป.ชนะเพราะทำงานหนัก โดยเฉพาะในช่วงน้ำท่วมครั้งที่ผ่านมา

เขาบอกว่า เหตุการณ์น้ำท่วมจะเป็นตัวชี้ขาดว่าใครจะได้เป็นผู้ว่าฯคนต่อไป ?

"ยอมรับว่าคุณชายทำงานหนัก ทำให้ประชาชนยังไว้วางใจเขาให้ทำงานต่อแน่"

"แต่ต้องรอคำตอบจากเจ้าตัว ยิ่งในช่วงโค้งสุดท้าย ยิ่งต้องลงพื้นที่ทำงาน ที่ผ่านมารัฐบาลบริหารน้ำผิดพลาด เราจะต้องช่วงชิงจังหวะเพื่อให้ประชาชนไว้วางใจให้ได้"

ในการเลือกตั้งครั้งก่อน "อภิรักษ์" คือผู้ดันชื่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ให้ไปอยู่ในโผของพรรค ดังนั้นหากจะมีการลงสมัครซ้ำอีกรอบ เขาบอกว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะตนเองก็เป็นมาแล้ว 2 สมัย

"อภิรักษ์" จัดลำดับเคล็ดลับ 3 ประการ ที่เป็นสารเร่งเรียกคะแนนนิยม ดังนี้

1.ตัวผู้สมัคร หากเป็นที่คุ้นเคยทั้งหน้าตาและชื่อเสียงทางการเมือง โอกาสที่จะได้รับเลือกย่อมมีสูง

2.นโยบาย ยิ่งโดนใจคน กทม.มากเท่าไร ย่อมได้คะแนนในแดนบวกมากขึ้นเท่านั้น

3.สังกัดพรรคการเมือง เพราะเหตุการณ์หลังรัฐประหาร ประชาชนสนใจการเมืองมากขึ้น ยิ่งในยุคที่ถูกแบ่งออกเป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจน นั่นเท่ากับมีฐานเสียงของพรรคเข้ามาโดยปริยาย

ส่วนโควตา "ผู้สมัครอิสระ" แม้ทุกครั้งจะมีบุคคลที่มีชื่อเสียงลงสมัครมากมาย แต่ "อภิรักษ์" มั่นใจว่า คนเหล่านี้ทำได้เพียงแค่ตัดแต้มผู้สมัครจาก ปชป. และพรรคเพื่อไทย

นอกจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ที่ออกตัวแรง แซงทุกโผขึ้นมาเป็น "เบอร์หนึ่ง" คนวงใน ปชป.ยังได้วิเคราะห์ความเป็นไปได้ หากจำเป็นต้องส่ง "กรณ์" เข้าชิงตำแหน่งครั้งนี้

เพราะช่วงที่ผ่านมา เคยนั่งเก้าอี้ "ขุนคลัง" ในสมัยที่พรรคได้เป็นรัฐบาล ดังนั้นการที่จะลงสนามผู้ว่าฯ พรรคอาจมองว่าเป็นการลดเครดิตตนเองจากตำแหน่งรัฐมนตรี

ขณะที่อีกกลุ่มมองต่าง ยกชื่อชั้นเทียบความเหมือนของ "กรณ์" กับ "สมัคร สุนทรเวช" ว่า ก่อนที่นายสมัครจะได้เป็นผู้ว่าฯ ก็เป็นรัฐมนตรีมาแล้วหลายสมัยเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ปชป.ต้องรอดูท่าทีจากฝั่งเพื่อไทย ในบริบทของ "ชื่อผู้สมัคร" โดยเฉพาะทิศทางลม หากมีการปรับคณะ รัฐมนตรีครั้งต่อไป เพราะอาจมีผู้สมัครที่อยู่ในโผ "อดีตรัฐมนตรี" เพิ่มเติม

ดังนั้นชื่อ "ตัวจริง" ในใบสมัครผู้ว่าฯ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ จึงยังไม่ถึงจังหวะที่จะเปิดเผยในเวลานี้

เพื่อไทยเปิดโผหลอกปลอดประสพ-กิตติรัตน์-เจ๊หน่อยลุ้น

การเลือกตั้งทั้ง 4 สนาม "พรรคเพื่อไทย" พ่ายแพ้อย่างหมดรูปในสนามเลือกตั้งเมืองหลวง โดยเฉพาะการเลือกตั้งซ่อม ส.ก.ดอนเมือง ที่ถูก "พรรคประชาธิปัตย์" เจาะไข่แดง

แต่ "วิชาญ มีนชัยนันท์" ในฐานะประธานภาคกทม.มองว่า การเลือกตั้งสนามใหญ่ กับสนามย่อย ต่างกันสิ้นเชิง

"เพราะการเลือกตั้งท้องถิ่นจะมีความต่างกับการเมืองระดับชาติ การเลือกตั้งท้องถิ่นชาวบ้านจะดูที่ตัวบุคคล เชื่อว่าเรื่องเงินชดเชยน้ำท่วมมีส่วนทำให้เพื่อไทยพ่ายแพ้ด้วย"

เมื่อ "พรรคเพื่อไทย" ไม่สามารถเอาชนะ "พรรคประชาธิปัตย์" ได้เลย ในรอบ 3 ปีหลังสุด ดังนั้น ในศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.รอบนี้ พรรคเพื่อไทยจึงเก็บตัวซุ่มทำแผนกลยุทธ์ ทำโพลสำรวจอย่างรอบคอบ-รอบด้าน

มีการสำรวจความต้องการของคน กทม. ทั้ง "โพลใหญ่" แบบเดือนเว้นเดือนกับ "โพลย่อย" รายเดือน

เน้นหนักในพื้นที่ฝ่ายตรงข้ามใน 23 เขตของ "พรรคประชาธิปัตย์" ถามละเอียดถึงขั้นประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ มีความต้องการอยากเห็น-อยากได้อะไร เพื่อนำมาจัดทำเป็นยุทธศาสตร์-นโยบายการเจาะฐานเสียงในอนาคต

และยังจัดทำโพลสำหรับวัดความคิดคนกรุง ต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่กำลังจะถึงในอีก 4 เดือนข้างหน้า พร้อมทั้งหยิบรายชื่อแคนดิเดตผู้สมัครของ "พรรคเพื่อไทย" กับ "พรรคประชาธิปัตย์" มาเทียบกันแบบ "ปอนด์" ต่อ "ปอนด์"

โพลล่าสุดที่ "พรรคเพื่อไทย" ลงพื้นที่สำรวจความคิดชาว กทม.กว่า 1,000 คน แบ่งออกเป็น 2 ชุดคำถาม

ชุดที่ 1 ถามว่า "ถ้าให้เลือกผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยเป็นผู้ว่าฯ กทม. จะเลือกใคร" มีตัวเลือก 3 คน 1.ปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ฯ 2.ประภัสร์

จงสงวน กรรมการผู้ช่วย รมว.คมนาคม 3.อุเทน ชาติภิญโญ คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย และที่ปรึกษาด้านการระบายน้ำนายกรัฐมนตรี

ปรากฏว่าคนที่ได้คะแนนมากที่สุดคือ "ปลอดประสพ" ได้เกินร้อยละ 60 อันดับ 2 เป็น "ประภัสร์" และ 3 เป็น "อุเทน"

ส่วนชุดที่ 2 ใช้แนวคำถามเหมือนกัน "ถ้าให้เลือกผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ จะเลือกใคร" เบอร์ 1. กรณ์ จาติกวณิช 2.ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร 3.องอาจ คล้ามไพบูลย์

เมื่อกางผลโพลปรากฏว่า อันดับ 1 เป็น "กรณ์" ได้คะแนนร้อยละ 52 อันดับ 2 เป็น "ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์" ได้ร้อยละ 34 ส่วน "องอาจ" มาเป็นอันดับ 3 ร้อยละ 14

อย่างไรก็ตาม โพลทั้ง 2 ชุดคำถาม เป็นเพียงเครื่องมือหยั่งเสียงเบื้องต้นเท่านั้น

ทั้ง 3 รายชื่อที่อยู่ในแบบสอบถาม ยังไม่ใช่แคนดิเดตตัวจริงที่ "พรรคเพื่อไทย" ส่งสู้ศึก

แต่การเปิดตัวบุคคลที่เป็นตัวจริงนั้น "พรรคเพื่อไทย" วางกลยุทธ์ไว้ 2 แบบ คือ1.แบบเดียวกับการเปิดตัว "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ที่ใช้สูตร 49 วันเป็นนายกฯเปิดตัวใกล้วันลงรับสมัครเลือกตั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามโจมตีทำให้ภาพลักษณ์เสื่อมเสีย

2.รอให้ "พรรคประชาธิปัตย์" เปิดตัวก่อนแล้ว "พรรคเพื่อไทย" จึงจะเปิดตัวตาม

เมื่อการสรรหาผู้สมัครยังไม่ลงตัว จึงทำให้อุณหภูมิการเมืองใน "โอเอไอ ทาวเวอร์" ช่วงเวลานี้ถึงขั้นร้อนระอุ เพราะมีการแบ่งกลุ่ม แบ่งขั้ว แบ่งข้างสนับสนุนบุคคลที่จะมาชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯเมืองหลวงในนามของพรรค ส.ส.กทม. ผนึกกำลังกับ ส.ก. ส.ข. สนับสนุน "คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์" ลงชิงผู้ว่าฯหญิงคนแรก

ขณะที่ ยิ่งลักษณ์-เยาวภา วงศ์สวัสดิ์-ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง หนุนชื่อของ "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" รองนายกฯ และ รมว.คลัง ที่มีข่าวว่าจะถูกปรับออกจากคณะรัฐมนตรี และให้ลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ เป็นรางวัลปลอบใจ

ยังไม่นับ 3 ชื่อที่อยู่ในโพลสำรวจความเห็น คือ ปลอดประสพ-ประภัสร์-อุเทน ก็ยังมีสิทธิ์ลุ้น เป็นตัวสอดแทรก ตัวตัดคะแนนได้ตลอดเวลา

แม้ "คุณหญิงสุดารัตน์" จะเก็บตัวเงียบ ปล่อยให้เด็กในสังกัดทั้ง ส.ส.กทม. รวมถึง ส.ก. ส.ข.ออกมาเคลื่อนไหวแทน แต่เมื่อจับคำพูดในงานเลี้ยงวันคล้ายวันเกิดครบ 51 ปี เมื่อ 1 พฤษภาคม ณ ลานวัดสระเกศที่ผ่านมา

เป็นการพูดบนเวทีต่อ ส.ส.กทม. ส.ก. ส.ข. และเครือข่ายหัวคะแนนใน กทม.ทั้งหมด สามารถเดาได้ไม่ยากว่ามีโอกาส 50 : 50 ที่ "เจ๊หน่อย" อยากหวนคืนสู่สนามการเมือง ในบทบาทเบื้องหน้าอีกครั้ง

"งานการเมืองไม่ทิ้งแน่ แต่หลังปลดล็อกขอเป็นผู้สนับสนุน ส.ส. และรัฐมนตรีไปก่อน เพราะทำงานดีอยู่แล้ว ขอทำงานพระพุทธเจ้าน้อยให้เสร็จ หลังจากนั้นจะเป็นผู้ว่าฯ หรือผู้ถูกว่า หรือ ส.ส.ค่อยว่าอีกที" คุณหญิงสุดารัตน์กล่าว

"วิชาญ" ประเมินแบบคนใกล้ชิดถึงโอกาสความเป็นไปได้ที่ "คุณหญิงสุดารัตน์" จะเสนอตัวชิงผู้ว่าฯ กทม.ว่า "ส่วนตัวเห็นว่าคุณหญิงสุดารัตน์ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่มีความรู้ความสามารถและเป็นที่รู้จักของประชาชน รวมทั้งเป็นผู้ริเริ่มตั้งกลุ่มพลังไทยใน กทม."

"แต่ผมยังตอบไม่ได้ว่าคุณหญิงสุดารัตน์จะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.หรือไม่ แต่คุณหญิงสุดารัตน์ก็เป็นผู้ที่มีความเหมาะสมในการลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ได้ แต่คงต้องขึ้นอยู่ที่การพิจารณาของพรรคและจะมีบุคคลที่จะเหมาะสมลงสมัครหรือไม่ แม้พรรคเพื่อไทยจะเปิดตัวผู้สมัครหลังสุดก็ไม่ใช่เรื่องแปลก"

ความเคลื่อนไหวอย่างร้อนระอุภายในพรรคเพื่อไทย เพื่อชิงเป็นตัวแทนในนามพรรค ลงแข่งเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป จนกว่าผู้มีบารมีนอกพรรคจะประกาศชื่อผู้สมัครตัวจริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น