BangkokElection2013 (วันที่ 30 ตุลาคม 2555) - เครือข่ายอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม
ประกอบด้วย สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมอิโคโมสไทย
สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม กรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปะ สถาปัตยกรรม
สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมชูปถัมภ์ เครือข่ายต้านคอรัปชั่น
หลักสูตรการจัดการทางวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิเล็ก-ประไพ
วิริยะพันธุ์ จะเข้ายื่นหนังสือคัดค้านผังเมืองรวมของกรุงเทพมหานคร
(ปรับปรุงครั้งที่ 3) ซึ่งจะประกาศใช้ในเร็วๆ นี้
โดยส่งถึง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ในวันที่ 29 ตุลาคมนี้ เนื่องจากผังเมืองดังกล่าวมีผลกระทบต่อพื้นที่วัฒนธรรมและชุมชนดั้งเดิมใน
เขตเมืองเก่า เขตสัมพันธ์วงศ์และเขตป้อมปรามศัตรูพ่าย จึงเรียกร้องให้ กทม.พิจารณาแก้ไขผังเมืองรวม
กทม.ในการปกป้องและรักษาชุมชนเก่าของเมืองที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ให้ อยู่คู่กับความเจริญที่กำลังจะมาถึง
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ตรึงใจ บูรณสมภพ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญการตั้งถิ่นฐานและการผังเมือง วุฒิสภา กล่าวว่า เราควรจะอนุรักษ์อาคารเก่าแก่ที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ไว้ ซึ่งเรื่องการวางและจัดผังเมืองรวมของกรุงเทพมหานครมีผลกระทบต่อชุมชนและ ประชาชนเป็นอย่างมาก ดังนั้น กทม.จะต้องตระหนักในเรื่องนี้ให้มาก ขณะที่ในส่วนของประชาชนได้เกิดการตื่นตัวในเรื่องนี้ เช่น ชุมชนบริเวณวัดมังกรกมลาวาส หรือวัดเล่งเน่ยยี่ ชุมชนเจริญไชย และเวิ้งนาครเขษม เป็นต้น ทั้งนี้ ประชาชนมิได้คัดค้านความเจริญที่จะเกิดขึ้น แต่ทำอย่างไรที่ความเจริญจะไม่ทำลายรากเหง้าของชุมชนนั้น เช่น การก่อสร้างรถไฟฟ้า ก็มีการระดมความคิดกันว่าจะปรับแบบทางขึ้นลงรถไฟฟ้าให้มีสภาพกลมกลืนกับภูมิ ทัศน์วัฒนธรรมของย่านเก่าแก่ได้อย่างไร
ขณะที่ น.ส.สุดารา สุจฉายา นักประวัติศาสตร์มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ กล่าวว่า การวางและจัดผังเมืองรวมของกรุงเทพมหานครมีการระบุพื้นที่ที่มีความสำคัญทาง ประวัติศาสตร์น้อยเกินไป เพราะพื้นที่ในแต่ละแห่งมีวัฒนธรรมหรือความสำคัญแตกต่างกัน หากมีการปรับปรุงผังเมืองรวม กทม.ต้องพิจารณาในส่วนนี้เข้าไปด้วย โดย กทม.ควรพิจารณาถึงผลกระทบต่อทัศนียภาพและการก่อสร้างตึกสูงในพื้นที่ ทั้งนี้ ถ้าได้พิจารณาถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนในแต่ละพื้นที่ การจัดผังเมืองรวมก็จะไม่มีผลกระทบต่อประชาชนในชุมชน
สำหรับข้อเสนอของเครือข่ายอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม เพื่อให้ กทม.เข้ามามีบทบาทในการอนุรักษ์ย่านและชุมชนประวัติศาสตร์ มีดังนี้ 1.พิจารณาทบทวนมาตรการทางผังเมือง ทั้งข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยเฉพาะในส่วนของการให้สิทธิการพัฒนาที่เพิ่มขึ้นโดยรอบสถานีรถไฟฟ้า 500 เมตร ให้ยกเว้นสิทธิพิเศษดังกล่าวในพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ หรือชุมชนที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์
2.ปรับปรุงหรือตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ที่มีวัตถุประสงค์ในการปกป้องย่านและชุมชนประวัติศาสตร์แต่ละแห่ง โดยเฉพาะการห้ามรื้อถอนอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และศิลปกรรม ซึ่งทำได้ตามมาตรา 8 และ 9 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ทั้งนี้ โดยผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง และการได้รับข้อมูลอย่างถูกต้องทั่วถึง
3.ส่งเสริมให้ชุมชนและย่านประวัติศาสตร์สามารถดำรงวิถีชีวิตและรักษาอาคาร อยู่ได้ โดยการให้มีมาตรการและแรงจูงใจในลักษณะต่างๆ เช่น การจัดทำโครงการพัฒนชุมชนที่มีการฟื้นฟูอาคารเก่าให้มีสภาพดีเหมือนในอดีต หรือช่วยเหลือในด้านการบูรณะซ่อมแซมตามหลักวิชาการ เป็นต้น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น