วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เทปูนยังไม่แห้ง! กทม.ล็อบบี้ "ฟีฟ่า" ให้รับมอบสนามฟุตซอลโลก!



Bangkok Election 2012 (5 ตุลาคม 2555) กรุงเทพมหานคร ดูท่าจะเริ่มเดือดร้อนกับการช่วงชิงรับหน้าเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน "ฟุตซอลโลก2012" ของประเทศไทย ระหว่างวันที่ 1-18 พฤศจิกายนนี้  จะเกิดปัญหา เมื่อความคืบหน้าล่าสุดในการสร้างสนาม "บางกอก ฟุตซอล อารีน่า"สังเวียนหลักในการฟาดแข้งบอลโต๊ะเล็กโลก ที่มี "กรุงเทพมหานคร" นั่งแท่นเป็นผู้ควบคุมการผลิตเพิ่งจะดำเนินการก่อสร้างไปได้เพียงแค่ 80 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น ทำให้มีแนวโน้มว่า "สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า)"ที่กำลังจะเดินทางมาตรวจสอบสนามในวันที่ 1-5 ตุลาคมนี้ อาจไม่เห็นชอบให้ใช้สนามบางกอก ฟุตซอล อารีน่า ในการแข่งขันฟุตซอลโลกก็เป็นได้

"ศุภชัย ตันติคมน์" ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ดูแลรับผิดชอบเรื่องสนามการแข่งขันฟุตซอลแห่งนี้ ยอมรับว่า การสร้างสนามฟุตซอลโลกที่ กทม.ตั้งเป้าให้แล้วเสร็จ 100 เปอร์เซ็นต์ ทันการส่งมอบกับทางฟีฟ่าในวันที่ 20 ตุลาคมนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะเสร็จสมบูรณ์สวยงามตามโมเดลหรือภาพที่แสดงเอาไว้ก่อนหน้านี้ แต่หมายถึงเสร็จสมบูรณ์แข็งแรงพร้อมรองรับการแข่งขันที่จะมีขึ้นในอีกหนึ่งเดือนข้างหน้าเท่านั้น ส่วนเรื่องการตกแต่งคงต้องรอทำเพิ่มเติมในภายหลัง

"ตอนนี้เรากำลังเร่งปูหลังคา, สร้างอัฒจันทร์ และเทพื้นคอนกรีต ให้คืบหน้าได้สัก 90 เปอร์เซ็นต์เป็นอย่างน้อย เพราะทั้ง 3 ส่วนนี้คือสิ่งสำคัญที่สุดในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับตัวแทนของทางฟีฟ่าที่จะเดินทางมาตรวจความพร้อมและตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้ายว่าจะยอมให้ใช้สนามแห่งนี้ในการแข่งขันฟุตซอลโลกหรือไม่ และเพื่อความแน่นอนเราได้เตรียมการล็อบบี้ฟีฟ่าให้ยอมรับสนามแห่งนี้เอาไว้เป็นการเรียบร้อยแล้ว"

แน่นอนว่า ถ้าทางฟีฟ่า "โอเค" กับความพัฒนาการของสนามบางกอก ฟุตซอล อารีน่า เรื่องราวทุกสิ่งทุกอย่างจะจบแบบแฮปปี้เอ็นดิ้งกันทุกฝ่าย แต่ถ้าฟีฟ่ายืนกรานว่า "ไม่" สนามฟุตซอลแห่งนี้จะกลายเป็นการลงทุนสร้างกว่า 1,200 ล้านบาทของประเทศไทยที่น่าผิดหวังและน่าอับอายที่สุดในระดับนานาชาติ  

สำหรับในกรณีที่เลวร้ายที่สุด ทาง "สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ" ได้เตรียมเสนอ "สนามอินดอร์สเตเดี้ยม หัวหมาก" และ "สนามนิมิบุตร อินดอร์ สเตเดี้ยม" ไว้ให้ทางฟีฟ่าได้พิจารณาสำหรับพิธีเปิดการแข่งขันฟุตซอลโลก 2012 อย่างเป็นทางการ แม้ว่าจำนวนความจุผู้ชมบนอัฒจันทร์ของทั้ง 2 สนามจะน้อยกว่าสนามใหม่ที่หนองจอกถึง 2 เท่าตัว แต่ "บิ๊กเปี๊ยก-องอาจ ก่อสินค้า"เลขาธิการสมาคมลูกหนังไทยแสดงความมั่นใจว่า "พร้อมสำหรับจัดพิธีเปิดในกรณีฉุกเฉินอย่างแน่นอน"

ได้ยินเลขาธิการลูกหนังไทยยืนยันความพร้อมแบบนี้ เราลองมาดูกันสักเล็กน้อยว่าทั้ง 2 สนามมีความพร้อมและศักยภาพเพียงพอที่จะรองรับการแข่งขันระดับโลกได้จริงหรือไม่

เริ่มจากสนามอินดอร์ สเตเดี้ยม หัวหมาก ที่สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 6 ในส่วนของกีฬาในร่ม สามารถรับผู้ชมภายในอาคารได้มากถึง 10,000-15,000 คน ส่วนด้านบนอัฒจันทร์จุได้ 6,000 คน สนามแห่งนี้เคยใช้จัดการแข่งขันระดับชาติอย่างเอเชี่ยนเกมส์, อาเซ็มยูทเกมส์, เอเชี่ยนอินดอร์เกมส์, เอเชี่ยนมาร์เชียลอาร์ตสเกมส์ และกีฬามหาวิทยาลัยโลกฤดูร้อน ขณะที่สนามนิมิบุตร อินดอร์ สเตเดี้ยมนั้น สามารถรองรับผู้ชมได้มากถึง 5,000 คน ดังนั้นในเรื่องความพร้อมน่าจะไว้ใจได้ในระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ยังมีสนามเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จังหวัดนครราชสีมา อีกหนึ่งสนามที่ใช้จัดการแข่งขันในครั้งนี้ที่มีความจุบนอัฒจันทร์ 5,000 ที่นั่ง โดย "สุวัจน์ ลิปตพัลลภ" อดีตรองนายกรัฐมนตรีและประธานฝ่ายจัดฟุตซอลชิงแชมป์โลก ได้ออกมายืนยันความพร้อมของสนามเมืองโคราชว่า "ส่วนสนามที่จังหวัดนครราชสีมาที่จะใช้แข่งขันก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ได้ทดสอบทุกอย่างแล้ว และฟีฟ่าพอใจมาก เพราะเขาได้เห็นการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนในการเป็นเจ้าภาพ โดยภาพรวมคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อประเทศมากทีเดียว"

อย่างไรก็ตาม ทางกรุงเทพฯและสมาคมฟุตบอลฯยังแสดงความมั่นใจว่า สร้างเสร็จ 100 เปอร์เซ็นต์ทันการแข่งขัน และสามารถโน้มน้าวใจให้ฟีฟ่าตอบโอเคได้อย่างแน่นอน
การแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลกดังกล่าว เริ่มต้นเมื่อปี 2552 ในสมัยที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นายกรัฐมนตรี ได้ดึงโครงการดังกล่าวมาจากกระทรวงกีฬาฯ มาให้ “กรุงเทพมหานคร” ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้ว่าฯ กทม.ทำเมื่อปี 2553 แต่กรุงเทพมหานครเพิ่งมาลงเสาเข็มก่อสร้างสนามเมื่อมีนาคม 2555 ที่ผ่านมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น