BangkokElection2013 (วันที่ 28 พฤศจิกายน 2555) - ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง และในฐานะประธานหอสมุดสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เปิดเผยว่า จากการเป็นอาจารย์พิเศษ ณ สถาบันการศึกษาระดับสูงหลายแห่ง หลายฝ่ายมีข้อพิจารณาถึงชื่อตำแหน่งผู้บริหารทางการเมืองของกรุงเทพมหานคร สมควรที่จะปรับเปลี่ยนจาก “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (Governor of Bangkok Metropolitan)” เป็น “นายกเทศมนตรีกรุงเทพมหานคร (Lord Mayor of Bangkok Metropolitan)” ในสมัยการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้
สาเหตุที่ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อช่วยเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจทางการศึกษาได้ถูกต้องว่าประเทศไทยมีรูปแบบการบริหารราชการส่วนภูมิภาค
ซึ่งประกอบด้วย 76 จังหวัด ไม่ใช่ 77 จังหวัดตามที่มีการกล่าวกันอย่างผิด
ๆ กับอีกทั้งชื่อของตำแหน่งที่เป็นภาษาอังกฤษ คือ Lord Mayor ยังถือเป็นเกียรติต่อผู้บริหาร กทม.
ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง เช่นเดียวกับ Lord Mayor of
the City of London (นายกเทศมนตรีมหานครลอนดอน) Mayor of New
York City (นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก) และนครสำคัญแห่งอื่น ๆ ของโลก
ทั้งนี้ตั้งแต่อดีตตราบจนปัจจุบัน คำว่า “ผู้ว่าราชการ”
จะสื่อความหมายถึงบุคคลผู้เป็นข้าราชการประจำ (Civil Servant) ซึ่งรูปแบบการบริหารจัดการของ กทม. จัดเป็นรูปแบบการปกครองท้องถิ่น(Local Administration) เช่นเดียวกับเมืองพัทยา
อบจ. เทศบาล และอบต. ซึ่งนักเรียนนักศึกษามีความสับสนในการทำความเข้าใจ และจำแนกแยกแยะได้ไม่ถูกต้องระหว่างรูปแบบการบริหารราชการส่วนภูมิภาค
คือ ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด นายอำเภอ แรงงานจังหวัด
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ฯลฯ
ซึ่งต่างทำหน้าที่ดำรงความเป็นหนึ่งประเทศเดียวกัน
และการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น คือ ตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. นายกเมืองพัทยา นายก อบจ.
นายกเทศมนตรี และนายก อบต. ฯลฯ
การพิจารณาปรับเปลี่ยนชื่อตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.
เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นจะก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องและเหมาะสม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น