วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ชาวบ้านโว้ย! กทม.ปล่อยน้ำเสีย ทำสัตว์น้ำป่าชายเลนตายระนาว


BangkokElection2013 (วันที่ 29 พฤศจิกายน 2555) - ชุมชนคลองแสนตอ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร (กทม.) โครงการสื่อสุขภาวะคนชายขอบ สำนักงานการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้นำเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำสาวะวิน จ.แม่ฮ่องสอน ประมาณ 10 คน ลงพื้นที่สำรวจป่าโกงกาง พื้นที่อ่าวไทยตอนใน หรือรอบอ่าวตัว ก

นายจรัล อ่วมสะอาด ประธานชุมชนแสนตอ และตัวแทนจากเครือข่ายอนุรักษ์ทะเล กล่าวระหว่างการลงพื้นที่ว่า ตอนนี้ทะเลบางขุนเทียนกำลังวิกฤตหนัก โดยชุมชนในเขตบางขุนเทียน ซึ่งเป็นเขตเดียวของ กทม.ที่ติดทะเลนั้น เป็นพื้นที่ป่าโกงกางที่ในอดีตเคยสะอาดและอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชและสัตว์น้ำกร่อย การจราจรในชุมชนอาศัยการเดินเรือของชาวบ้าน โดยคนในชุมชนจะยึดอาชีพประมงเป็นหลัก ทั้งหาหอย ปลา และอาศัยการทำวังกุ้ง ธรรมชาติโดยสร้างประตูน้ำเข้าออกทะเล จากไม้ไผ่แล้วให้กุ้งหอยทะเลไหลเข้ามาตามทางน้ำ ซึ่งสัตว์กลุ่มนี้จะกินแพลงตอนเป็นอาหาร ชาวบ้านอนุรักษ์ป่าลุ่มน้ำโดยการสร้างแนวไม้ไผ่ เพื่อให้เกิดตะกอนเลน ให้มีดินอยู่ด้านล่างและพันธุ์ไม้ที่สำคัญ อย่างต้นแสมดำ แสมขาว และต้นโกงกาง ได้เจริญเติบโตอย่างธรรมชาติ ให้สัตว์ได้มีที่อยู่และขยายพันธุ์ตามเวลาที่เหมาะสม ซึ่งทุกคนก็ใช้ชีวิตอย่างปกติสุข

"ระยะหลังชาวบ้านในชุมชน พบว่าปัญหาน้ำเสียเริ่มเกิดขึ้นในชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยน้ำเน่าเสียถูกปล่อยมาจากตัวเมือง กทม. ซึ่งหลายครั้งที่ชาวบ้านร้องเรียนเข้าไปเพื่อให้ กทม.ได้มีการบำบัดก่อนปล่อยลงสู่ทะเล แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ปัญหา เพราะไม่มีหลักฐานยืนยันถึงผลกระทบที่ชัดเจน ปัญหาน้ำเน่าเสียในชุมชนจะนานประมาณ 2-3 วัน แต่เมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมานั้น ชาวบ้านพบว่าน้ำเน่าเสียอยู่นานกว่า 20 วัน แสดงว่าสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมแย่ลงทุกที ซึ่งชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเน่าเสียนั้นไม่ใช่แค่ชุมชนแสนตอเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชุมชนใกล้เคียงในเขตบางขุนเทียนที่มีพื้นที่ติดทะเลด้วย ได้แก่ ชุมชนศรีกุมาร ชุมชนคลองพิทยาลงกรณ์" นายจรัลกล่าว

นายจรัลกล่าวว่า ปัญหาที่พบจากกรณีนี้คือ กุ้งก็เริ่มตาย หอยก็ขนาดเล็กลง และบางส่วนตาย เพราะน้ำเน่าหมด จึงอยากให้ กทม.เข้าใจและช่วยแก้ปัญหาจุดนี้บ้าง เพราะชาวบ้านพยายามอย่างมากในการอนุรักษ์ป่าแบบธรรมชาติ เพื่อรักษาทรัพยากรที่มีให้คงอยู่ต่อไป เมื่อสถานการณ์เริ่มแย่ลง ชาวบ้านได้รวมตัวกันตั้งวอร์รูมของชุมชน 4 จุด เพื่อเปลี่ยนเวรยามรายงานสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชน ด้วยตนเอง โดยจะมีการสำรวจพื้นที่น้ำเสียให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ขณะนี้ทางเครือข่ายอนุรักษ์ทะเล ได้ทำหนังสือถึงสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เพื่อของบประมาณจัดซื้อเครื่องตรวจวัดคุณภาพน้ำด้วย แต่ยังไม่มีการตอบรับใด ๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น