เมื่อวันที่ 16 กันยายน ดร.นพดล กรรณิกา ผอ.สำนักวิจัยเอแบคโพลล์
มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง
จากเวทีเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ถึงระดับชาติว่าด้วยการปรับคณะรัฐมนตรี
กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน
2,013 ตัวอย่างและประชาชนใน 17 จังหวัด ระหว่างวันที่ 5-15
กันยายนที่ผ่านมา
เมื่อถามกลุ่มคนกรุงเทพมหานครที่มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.พบว่า
ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.8
ระบุสิ่งที่ทำให้มีความทุกข์ในการใช้ชีวิตในกรุงเทพมหานคร ได้แก่
ปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพ รองลงมา คือ ร้อยละ 88.3 ระบุปัญหายาเสพติด ร้อยละ
87.9 ระบุปัญหาการจราจรติดขัด ร้อยละ 84.0
ระบุปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง/การชุมนุมประท้วง ร้อยละ 83.0
ระบุความหวาดกลัวต่ออาชญากรรม ร้อยละ 81.3 ระบุปัญหามลพิษ
ขยะมูลฝอยในชุมชนแออัด ร้อยละ 73.4 ระบุเด็กยกพวกตีกัน เด็กหนีเรียน
และร้อยละ 61.7 ระบุปัญหาแรงงานต่างด้าว คนต่างด้าว ตามลำดับ
เมื่อถามถึงสิ่งที่ทำให้มีความสุขในการใช้ชีวิตในกรุงเทพมหานคร พบว่า
ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 96.2 ระบุความจงรักภักดีของคนในชาติ รองลงมาคือ ร้อยละ
94.6 ระบุความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ร้อยละ 86.9
ระบุมีเพื่อนร่วมงานที่ดี ร้อยละ 86.6 ระบุความมีน้ำใจของคนในชุมชน ร้อยละ
85.6 ระบุเข้าวัดทำบุญ ร้อยละ 85.2 ระบุบ้านเมืองสงบสุข ร้อยละ 85.0
ระบุไม่มีหนี้สิน มีเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และร้อยละ 84.1
ระบุการมีสวนสาธารณะ มีต้นไม้ร่มรื่น ตามลำดับ
เมื่อถามถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นผู้ว่าฯกทม. พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ
85.1 ระบุซื่อสัตย์สุจริต รองลงมาคือร้อยละ 74.4
ระบุรวดเร็วฉับไวแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชน ร้อยละ 73.8
ระบุกล้าคิดกล้าทำ ร้อยละ 58.7 ระบุมีวิสัยทัศน์กว้างไกล
รู้จักป้องกันปัญหา ร้อยละ 57.7 ระบุมีผลงานเห็นได้ชัด ร้อยละ 55.9
ระบุเข้าถึงใกล้ชิดประชาชน ร้อยละ 50.3 ระบุสังกัดพรรคการเมือง และรองๆ
ลงไป คือ พัฒนาชุมชนให้น่าอยู่ มีการศึกษาดี และเป็นคนรุ่นใหม่ ตามลำดับ
ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.8 ยังไม่ตัดสินใจแน่นอน
มีตัวเลือกในใจมากกว่า 1 คน ในขณะที่ร้อยละ 37.2
ตัดสินใจแล้วว่าตั้งใจจะเลือกใคร โดยในกลุ่มคนที่ตัดสินใจแล้ว พบว่าร้อยละ
40.0 จะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รองลงมาคือร้อยละ 27.6
จะเลือกคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ร้อยละ 10.2 จะเลือก
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ร้อยละ 7.5 จะเลือกนายกรณ์ จาติกวณิช
และที่เหลือร้อยละ 14.7 จะเลือกนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์
ดามาพงศ์ และนายดำรงค์ พิเดช เป็นต้น
วันเดียวกัน ที่พรรคเพื่อไทย นายพร้องพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย
กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทย (พท.) เตรียมเสนอชื่อนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์
รมช.คมนาคม ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ว่า เรื่องดังกล่าวยังไม่ชัดเจน
เป็นแค่การแสดงความเห็นของสมาชิกพรรคบางคนที่อาจเห็นว่านายชัชชาติ
มีความรู้ความสามารถและมีผลงาน แต่การเสนอชื่อว่าจะให้ใครลงสมัครผู้ว่าฯ
กทม.ในนามพรรคนั้น ต้องผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการภาค กทม.ทั้ง 3 โซนก่อน
คือ โซนฝั่งธนบุรี มีร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
โซนกรุงเทพฯ ส่วนกลาง มีนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.คมนาคม เป็นประธาน
และโซนกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก มี น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ
รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เป็นประธาน
นายพร้อมพงศ์ กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 18 กันยายนนี้ ประธานโซน กทม.ทั้ง 3
โซน จะประชุมหารือกันเรื่องการส่งตัวผู้สมัครผู้ว่าฯ
กทม.ซึ่งคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปภายในวันที่ 25 กันยายนว่า
ทั้งสามโซนจะส่งใครเป็นผู้สมัครผู้ว่าฯ
กทม.จากนั้นจะส่งรายชื่อให้คณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยพิจารณาเป็นขั้นตอน
สุดท้ายว่าจะส่งใครเป็นผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรคเพื่อไทย
น่าจะได้ข้อยุติอย่างเป็นทางการในต้นเดือนตุลาคม
จากนั้นจะเร่งขับเคลื่อนนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงต่อไป
ด้านนายชัชชาติ เปิดเผยว่า
ขณะนี้พรรคเพื่อไทยยังไม่ได้มีการพูดคุยหรือทาบทามตนให้ลงสมัครชิงผู้ว่าฯ
กทม.แต่อย่างใด ข่าวที่ออกมาเป็นการพูดกันไป ตนไม่ถือเป็นสาระ
แต่หากมีการทาบทามจริง ตนอาจจะต้องขอปฏิเสธ
เนื่องจากงานภายในกระทรวงคมนาคมที่ตนได้รับมอบหมายให้ทำยังไม่บรรลุผลสำเร็จ
และมีงานที่จะต้องสานต่อจำนวนมาก ที่ถือเป็นงานที่ท้าทายมาก นอกจากนี้
หากต้องทิ้งงานที่กระทรวงคมนาคมไปตอนนี้
อาจถูกตำหนิจากประชาชนได้ว่าไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย
“หลังจากมีข่าวออกมา คุณแม่ผมโทรศัพท์มาขอร้องเลยว่าอย่าลงเลย
เพราะงานมันไม่เหมาะกับลูก นอกจากนี้ผมยังไม่เคยลงพื้นที่พบปะประชาชนใน
กทม.เลย ซึ่งมั่นใจว่าในพรรคยังมีบุคคลอื่นๆ
ที่มีความสามารถและเหมาะสมมากกว่าผม”นายชัชชาติ กล่าว
ขณะที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ
กทม.กล่าวถึงกรณีหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)
ออกมาระบุว่ายังไม่ชัดเจนว่าจะส่งผู้ใดลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ว่า
เป็นธรรมเนียมของพรรคในการคัดเลือกบุคคลลงสมัครผู้ว่าฯ
กทม.ต้องผ่านกระบวนการสรรหาหลายขั้นตอน ส่วนตัวไม่กังวล
ถ้ากรณีพรรคไม่ส่งลงแข่ง ก็ไม่คิดจะลงสมัครในนามอิสระ เพราะตนเป็นคนของพรรค
ปชป.เคารพในการตัดสินใจของพรรค และตั้งใจเดินหน้าทำงานต่อไป
ที่มา :http://www.naewna.com/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น