วันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2556

วงเสวนาปฏิรูป ชี้ เลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 คือทางออกของประเทศไทย



15 ธันวาคม 2556 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.20 น. ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับหมอบหมายจาก นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ดำเนินการจัดเวทีปฏิรูปเพื่อหาทางออกให้ประเทศ กล่าวเปิดการสัมมนาระดมความเห็น ประเทศไทยของเราจะไปทางไหนเพื่อหารือร่วมกับทุกภาคส่วนในการหาทางออกของประเทศ

นายธงทอง กล่าวว่า ที่มาของกิจกรรมวันนี้ ทุกท่านคงทราบดีว่าบ้านเมืองของเรา จะพูดว่าอยู่ในสภาวะวิกฤติก็คงไม่ผิด 2-3 วันที่ผ่านมาถือเป็นสัญญาณที่ดีที่มีการเปิดให้พูดคุยกัน เช่นเดียวกัน ผมได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีซึ่งได้แสดงต่อสาธารณะไปว่ารัฐบาลเองก็อยากจะมีเวทีสักเวทีขึ้นมา ซึ่งในถ้อยแถลงของนายกฯได้มอบหมายให้มาเป็นผู้ประสานงาน

การพูดคุยวันนี้ไม่ได้กำหนดว่าต้องมีประธาน หรือมีการโหวตลงมติแพ้ชนะกัน ตนทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการเพื่อให้ทุกคนได้มีการพูดคุย แสดงความคิดความเห็น ซึ่งในพื้นที่ที่จำกัด ก็พยายามเชิญกลุ่มที่มีบทบาทในกระบวนการทางการเมือง อาทิ 7 องค์กรธุรกิจ ข้าราชการ กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง และที่ขาดไม่ได้คือพรรคการเมืองต่างๆ ผู้แทนองค์กรศาสนา พุทธสมาคม สถาบันทางวิชาการ สถาบันพระปกเกล้า สภาพัฒนาการเมือง ทำให้องค์ประกอบอยู่ที่ประมาณ 90 คนนายธงทองกล่าว        

ประเด็นปัญหาที่เป็นข้อถกเถียงทุกวันนี้ คือ มีพระราชกฤษฎีกา และกำหนดวันเลือกตั้ง วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ขณะที่ความเห็นของ กปปส. เห็นว่ายังไม่ควรมีการเลือกตั้ง ควรเลื่อนออกไปก่อน อีกความเห็นคือการเลือกตั้ง 2 ก.พ. เมื่อเป็นพระราชกฤษฎีกา เป็นกฏหมายแล้วก็เดินหน้าไป แต่ต้องมีกลไกอื่นในการเสริมความซื่อสัตย์สุจริต และต้องทำเป็นจังหวะขั้นตอนอย่างไร ส่วนอะไรจะทำก่อนหรือหลังก็มาถกเถียงกันก็แล้วกัน โดยในรอบแรก ขอให้แสดงความเห็นท่านละ 5 นาที

ด้านนายวีระพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ กล่าวตอนหนึ่งว่า ข้อเสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อนนั้นไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ และในรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้รัฐบาลยุบสภาฯ แล้วต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน เพื่อป้องกันไม่ให้นักการเมืองเลื่อนการเลือกตั้งเพื่อประโยชน์ของตนเอง ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้สามารถทำให้โปร่งใสได้โดยไม่ต้องรอให้มีสภาประชาชนขึ้นมาตามที่ กปปส. อ้าง โดยใช้มาตรา 25 ของกฎหมายประกอบการเลือกตั้ง ที่เปิดโอกาสให้บุคคลและภาคเอกชนส่งตัวแทนเข้าร่วมสังเกตการณ์เลือกตั้ง หากพบการกระทำความผิด ระเบียบของ กกต. สามารถลงโทษได้ถึงขั้นยุบพรรค

สำหรับแนวทางปฏิรูปที่ง่ายที่สุดคือจัดการเลือกตั้งและให้รัฐบาลใหม่อยู่บริหารงาน เพียง 2 ปี และยุบสภาฯ ในระหว่างนั้นรัฐบาลต้องวางกลไกการปฏิรูปประเทศ เพื่อผูกมัดระหว่างทุกชุดในการหาทางออกประเทศ ซึ่งแนวทางสภาประชาชนจะมาในรูปแบบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ อาจตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจที่ให้มีทุกภาคส่วน หรืออาจเชิญฝ่ายค้านและคู่ขัดแย้งเข้าร่วมรัฐบาลหรือสภาฯ ด้วยนายวีระพัฒน์กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีนักกฎหมาย นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิ อีกมากมายที่มาร่วมงานเสวนาในครั้งนี้ อาทิ พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช กรรมการข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นายณพงศ์ นพเกตุ นักวิชาการอิสระ ฯลฯ ซึ่งผู้ร่วมเสวนาส่วนใหญ่เห็นด้วยว่า การเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. 2557 จะเป็นทางออกของประเทศไทย








วันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2556

“สุขุมพันธุ์” น้ำตาแตก แหกโค้ง แถลง คว้าชัยผู้ว่าฯกทม.


3 มีนาคม 2556 Bangkok Election - ที่พรรคประชาธิปัตย์ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ ได้ออกแถลงการณ์ พร้อมแกนนำพรรค หลังทราบผลการนับคะแนนเลือกตั้งผู้ว่า กทม อย่างไม่เป็นทางการ โดยระบุว่า
ขอกราบขอบคุณทุกคะแนนเสียง ที่มอบให้พรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างท้วมท้นเกินล้านคะแนน ทุกคะแนนเสียงเปรียบเหมือนเสียงสวรรค์ ที่ส่งตนถึงฝั่ง

พร้อมกันนี้ขอขอบคุณน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ได้สัญญาว่าจะร่วมทำงานอย่างไร้รอยต่อกับ กทม. ที่มีตนเป็นผู้ว่าฯ เพื่อที่จะให้ กทม. เดินหน้าไปได้

ซึ่งต่อจากนี้ไปจะไม่มีคำว่าชักช้า จะเดินหน้าทำทันที เพื่อที่จะให้ประชาธิปัตย์ อยู่กับคน กทม. ไปถึง 16ปี และเชิญชวนคนกรุงเทพทุกคนร่วมสร้าง กทม. ที่เรารักไปด้วยกัน ทั้งนี้ขอสัญญาว่าตั้งใจทำงานให้มากกว่าเดิม เพื่อดูแลคนกรุงเทพ

ผมจะไม่ลืมตลอดชีวิต ที่ให้โอกาสผมอีกครั้งเพื่อรับใช้ปชช.ในเมืองที่ผมรัก ที่ผมเกิด ในเมืองที่ผมดำเนินชีวิตอยู่ ในเมืองที่ผมจะตาย

แพ้แล้วพาล ? "เสรีพิสุทธิ์" โวยการเมืองเล่นงาน ไม่พอใจคะแนน ไม่ขอร่วมงาน


3 มีนาคม 2556 Bangkok Election - พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ได้แถลงข่าวภายหลังทราบผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการว่า ขอขอบคุณประชาชนที่ลงคะแนนให้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ จากผลคะแนน การวิเคราะห์ผลโพลก่อนเลือกตั้ง ซึ่งออกมาว่า คนที่จะชนะคือ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย แล้วต่อมาด้วยอันดับ 2 คือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย และตนมีคะแนนอยู่อันดับ 3 ซึ่งมีคะแนนห่างกันมาก โดยผลโพลที่ออกมาขัดจากคะแนนที่เป็นจริง และจากการที่ตนได้ลงพื้นที่และคาดคะเนไว้ ซึ่งจากการลงพื้นที่นั้น ตนก็ได้เสียงตอบรับจากประชาชนด้วยดีตลอดมา โดยผลที่ออกมา เป็นเกมการเมืองเป็นหลัก และที่นายขวัญชัย ไพรพนา แกนนำนปช. ออกมาพูดว่าถ้าผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยได้เป็นผู้ว่าฯจะออกมาปรับเปลี่ยนกทม. ส่งผลให้คนกลัว จึงลงคะแนนให้ผู้สมัครจากพรรคปชป. รวมทั้ง พรรคปชป.ได้หาเสียงโจมตีว่าถ้าเลือกตนก็จะได้ผู้ว่าฯจากพรรคเพื่อไทย ทำให้ฐานเสียงของตนไปลงคะแนนให้กับผู้สมัครพรรคปชป. อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ฝนตกที่เกิดขึ้นวันนี้ ก็ยังส่งผลให้การจราจรติดขัด จนทำให้ประชาชนไม่สามารถมาลงคะแนนทัน จากยอดคะแนนที่จะสูงกว่านี้จึงลดต่ำลง

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวอีกว่า ประชาชนต้องยอมรับผิดชอบกับผลที่เลือก ซึ่งพรรคปชป.บริหารกทม.มาก็เห็นอยู่ว่าเป็นอย่างไร ก็ต้องยอมรับกันต่อไป ทั้งนี้ หากเทียบคะแนนผู้สมัครอิสระที่ไม่มีชื่อเสียงในการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ คะแนนจะอยู่ที่ประมาณ 3 แสนกว่า แต่ตนมีชื่อเสียง กลับได้คะแนนแค่ 1 แสนกว่า จึงรู้สึกผิดหวังกับคะแนนที่ได้ ส่วนอนาคตทางการเมือง ในตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. ตนไม่คิดจะลงสมัครแล้ว เพราะอายุเยอะแล้ว สำหรับเวทีการเมืองระดับชาตินั้น ยังไม่สามารถตอบได้ชัด เนื่องจากในอนาคตอาจมีการเปลี่ยนแปลง จึงไม่อยากพูดผูกมัดตัวเอง ส่วนนโยบายของตน ถ้าว่าที่ผู้ว่าฯกทม.จะนำไปใช้ ตนก็ยินดี แต่จะไม่ขอร่วมงาน เพราะได้ประกาศชัดเจนแล้วว่าจะไม่สังกัดพรรคการเมืองในการสมัครผู้ว่าฯกทม

เพื่อไทยแถลงขอบคุณทุกคะแนนเสียงที่มอบความไว้ใจ พร้อมทำงานกับ กทม. แบบไร้รอยต่อ


3 มีนาคม 2556 Bangkok Election - ที่พรรคเพื่อไทย  น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล่าวแถลงข่าวว่า  ในนามของพรรคเพื่อไทยและตัวดิฉันขอถือโอกาสแสดงความยินดีกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร  ในการที่ได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนในครั้งนี้

ในนามเพื่อไทยขอบคุณทุกคะแนนเสียงที่มอบให้  โดยตลอด 48 วันที่ลงพื้นที่เป็นโอกาสดีที่ได้รับฟังปัญหาต่างๆของพี่น้องชาวกทม.และได้รับกำลังใจ แม้ว่าคะแนนของเราไม่สามารถก้าวสู่การเป็นผู้ว่ากทม.เพื่อรับใช้คนกทม.  แต่เราก็พร้อมและยินดีทำงานรับใช้คนกทม.ต่อไป และแม้ว่านโยบายต่างๆที่นำเสนอไปกับพี่น้องประชาชน สิ่งไหนที่เป็นนโยบายที่ดีก็จะผลักดันต่อไป ดิฉันก็พร้อมทำงานกับผู้ว่ากทม.อย่างไร้รอยต่อเช่นกัน

สุดท้ายดิฉันขอขอบคุณทางพรรคเพื่อไทย กรรมการบริหาร ทีมงาน เพราะทุกคนทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยและเต็มที่แล้ว ทุกคะแนนถือเป็นกำลังใจของพรรคเพื่อไทยตลอดไป

ด้านพล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครผู้ว่ากทม. กล่าวว่า  ขอแสดงความยินดีกับม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ด้วยความจริงใจและขออวยพรให้ประสบความสำเร็จในการบริหารราชการกทม.ในอีก 4 ปีข้างหน้าต่อไป อะไรที่จะช่วยเหลือได้ก็ยินดีและเต็มใจอย่างยิ่ง และไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใดหรือตำแหน่งแห่งหนใด ก็พร้อมร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพี่น้องประชาชน ถ้าจะทำอะไรให้ได้ก็จะทำเต็มที่ เต็มกำลังความสามารถ ขอโอกาสนี้ขอบคุณอย่างจริงใจต่อทุกคะแนนที่มอบให้

จนถึงวันนี้ยืนยันว่าในการทำงานไม่ว่าอยู่ในฐานะใดก็จะทำงานอย่างเต็มที่ และขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกส่วนที่ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

บช.น. เผยหลังปิดหีบเลือกตั้ง มีการกระทำผิดกฎหมาย 3 ราย ทำลายบัตร-ลงคะแนนโดยไม่มีสิทธิเลือกตั้ง


3 มีนาคม 2556 Bangkok Election - ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รอง ผบช.น. ในฐานะโฆษก บช.น. เปิดเผยถึงสถานการณ์การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ว่า สถานการณ์การเลือกตั้งในรอบวันนี้ ตั้งแต่เปิดหีบเลือกตั้ง ตั้งแต่ 08.00 น. เป็นต้นมา จนถึงขณะนี้ ปิดหีบเลือกตั้ง เวลา 15.00 น. เรียบร้อยแล้ว กำลังอยู่ในขั้นตอนการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง โดยมีสถานการณ์ทั้งวันเป็นปกติกองบัญชาการตำรวจนครบาล มีการรายงานสถานการณ์ ดังนี้ สถานการณ์การกระทำความผิด พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 นับตั้งแต่ เปิดหีบเลือกตั้ง เมื่อเวลา 08.00 น. เป็นต้นมา พบเหตุการณ์กระทำผิดกฎหมาย 3 ราย รายแรกเป็นการทำลายบัตรเลือกตั้ง โดยนายสมเดช เทียนสุวรรณ อายุ 57 ปี เหตุเกิดที่ หน่วยเลือกตั้งที่ 13 ซอยมาตานุสรณ์ แขวง/เขตบางคอแหลม ได้ฉีกบัตรเลือกตั้ง ทำให้บัตรได้รับความเสียหาย เจ้าหน้าที่จึงได้จับกุมตัวนำส่ง สน.วัดพระยาไกร ผลการสอบสวนเบื้องต้นทราบว่า นายสมเดชได้ให้การว่าเป็นการเข้าใจผิด โดยได้กระทำไปโดยไม่ได้ตั้งใจ โดยตนเองเข้าใจว่า จะต้องกา 2 ส่วน คือ ส่วนบุคคลผู้รับสมัครและส่วนพรรค ดังนั้นเมื่อ   กาผู้สมัครเรียบร้อยแล้ว จึงฉีกบัตรส่วนหนึ่งออก และจะกาในอีกส่วนหนึ่ง จึงถูกจับกุมดำเนินคดี ซึ่งพนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างสอบสวนดำเนินคดี

พล.ต.ต.อดุลย์กล่าวอีกว่า รายที่ 2 การทำลายบัตรเลือกตั้ง โดยนางสาวประณีต วัชรินทร์ อายุ 34 ปี เหตุเกิดที่หน่วยเลือกตั้งที่ 16 โรงเรียนไทยอาชีวะศึกษา ซอยจรัญสนิทวงศ์ 71  แขวงและเขตบางพลัด โดยน.ส.ประณีต รับบัตรเลือกตั้ง และเข้าไปยังคูหาเลือกตั้งเพื่อจะกากบาท แต่ตนเอง  จำหมายเลขผู้สมัครที่ต้องการจะเลือกไม่ได้ จึงเดินถือบัตรเลือกตั้งจะออกมาดูหมายเลขผู้สมัครที่บริเวณหน้าหน่วยเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่พบเห็นจึงได้ห้ามนำบัตรเลือกตั้งออกนอกคูหา น.ส.ประณีต โมโหจึงฉีกบัตรเลือกตั้ง  จึงถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัว นำส่ง สน.บางพลัดดำเนินคดี  ซึ่งพนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างสอบสวนดำเนินคดี  และรายที่ 3 ลงคะแนนโดยไม่มีสิทธิเลือกตั้ง โดยน.ส.งามเนตร แดงดี อายุ 26 ปี เหตุเกิดที่หน่วยเลือกตั้งที่ 10 ศาลาวัดบัวผัน แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยอยู่ พบน.ส.งามเนตร กำลังจะหย่อนบัตรลงคะแนนลงในหีบบัตร ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจำได้ว่า น.ส.งามเนตรได้เข้ามาใช้สิทธิลงคะแนนไปก่อนหน้านี้แล้ว จึงเข้าไปตรวจสอบ พบบัตรประชาชนของผู้อื่นของนางจำลอง    แดงดี  และบัตรเลือกตั้งพับเรียบร้อยแล้ว อยู่ในมือขวา จึงได้ไปสอบถาม ให้การรับสารภาพว่า นางจำลองเป็นย่าแท้ๆของตัวเอง และรับว่าสวมสิทธิของนางจำลองมาลงคะแนนเสียงแทนนางจำลองจริง


สำหรับสถานการณ์การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยและชุดปฏิบัติการได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเรียบร้อย ส่งผลให้การเลือกตั้งในครั้งนี้ สามารถดำเนินการไปได้ด้วยความเรียบร้อยตลอดทั้งวัน ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนาย ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันทำงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยจนกระทั่งทำให้การเลือกตั้งในครั้งนี้ ได้ปิดหีบไปด้วยความเรียบร้อย รวมทั้งขอขอบคุณพี่น้องประชาชนทุกท่านที่ได้ช่วยกันเป็นหูเป็นตาดูแลการเลือกตั้งครั้งนี้ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม อย่างเต็มที่โฆษก บช.น.กล่าว

"สุขุมพันธุ์"ทิ้งห่าง"พงศพัศ"กว่า 1 แสน "กทม." นับคะแนนไปกว่าครึ่ง


3 มีนาคม 2556 Bangkok Election - ที่ศูนย์ประมวลผลคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ศาลาว่าการกทม. ได้มีการรายงานผลการนับคะแนนการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. อย่างไม่เป็นทางการ โดยมีรายงานล่าสุด ณ เวลา 17.30 น. พบว่าได้มีการนับคะแนนเสร็จสิ้นไปแล้ว 3,448 หน่วยจากทั้งหมด 6,548 หน่วย คิดเป็น 52.66 เปอร์เซ็นต์ โดยผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. ที่มีคะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครฯ หมายเลข 16 พรรคประชาธิปัตย์ ได้ 616,595 คะแนน, 2. พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครฯ หมายเลข 9 ได้ 512,067 คะแนน, 3.พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ เตมียาเวส ผู้สมัครฯ หมายเลข 11 ในนาม อิสระ ได้ 81,399 คะแนน, 4.นายสุหฤท สยามวาลา ผู้สมัครฯ หมายเลข 17 ในนามอิสระ ได้คะแนน 38,367 คะแนน และ 5.นายโฆสิต สุวินิจจิต ผู้สมัครฯ หมายเลข 10 ในนามอิสระ ได้คะแนน 13,800 คะแนน
ทางด้านนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เข้ามาตรวจเยี่ยมศูย์ประมวลผลคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. จากนั้นได้แถลงขอบคุณสื่อมวลชนที่ได้ให้การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งกันอย่างคึกคัก สำหรับการรับรองผลการเลือกตั้งนั้น คาดว่าหลังจากที่ กกต.กทม.ได้ส่งผลคะแนนของผู้สมัครฯ ที่ได้รับคะแนนสูงสุด มาให้กกต. แล้วจะมีพิจารณาประกาศรับรองภายใน 7 วัน ด้านการตรวจสอบเรื่องร้องเรียน เท่าที่ดูข้อมูลไม่ใช่เรื่องรุนแรง เป็นรายชื่อที่มีความผิดพลาด ซึ่งไม่เป็นเรื่องปกติ เบื้องต้นไม่คาดว่าจะไม่มีผลถึงขั้นให้ใบเหลือง หรือใบแดง แต่ต้องพิจารณาตามหลักฐาน โดยตามกฎหมายได้กำหนดให้มีการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน
นายยศศักดิ์ คงมาก ผู้ช่วยปลัดกทม. ประกาศว่าขณะนี้ เขตยานนาวา ได้นับคะแนนเสร็จสิ้น 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นเขตแรกแล้ว

สุขุมพันธุ์สงวนท่าทียอมรับชัยชนะ แนะเลิกทำ Exit Poll


3 มีนาคม 2556 Bangkok Election - ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.หมายเลข 16 พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ให้สัมภาษณ์อย่างสงวนท่าที โดยยังไม่ขอรับว่าจะชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในครั้งนี้ แต่จะขอรอดูผลคะแนนที่แท้จริงก่อน เพราะการนับคะแนนยังไม่เสร็จสิ้น

"ผมยังไม่ขอรับ(ว่าจะชนะ) ผมอยู่กับความจริง ตอนนี้ยังนับคะแนนไม่หมด ต้องรอดูคะแนนจริงๆ ก่อน...ที่สำคัญคือประชาชนออกไปใช้สิทธิกันมาก เพราะฉะนั้นผมอยากให้เกียรติ์ประชาชน ยังไม่อยากจะสรุปตอนนี้" ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ระบุ

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ยังกล่าวถึงการทำ Exit Poll ของแต่ละสำนักว่า ตั้งแต่ลงสมัครรับเลือกตั้งมาไม่เคยเห็นว่า Exit Poll ของสำนักใดมีความแม่นยำ ทั้งนี้เพราะวัฒนธรรมของคนไทยในการตอบคำถาม Exit Poll จะแตกต่างจากคนอังกฤษ คือ คนไทยเมื่อรักชอบใครมักจะไม่พูดออกมาตรงๆ ดังนั้นผลโพลล์ที่ออกมาจึงอาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริง ดังนั้นจึงฝากไปถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) และสำนักโพลล์ต่างๆ ให้พิจารณาถึงความเหมาะสมในการทำ Exit Poll สำหรับการเลือกตั้งในครั้งต่อไป

"ผมไม่ได้วิจารณ์ผู้ที่ทำโพลล์ แต่วัฒนธรรมของคนไทยไม่เหมือนกับคนอังกฤษ คนไทยรักใครชอบใครมักจะไม่พูด ผลที่ออกมาจึงมักคลาดเคลื่อนมาก...อยากให้ กกต.และสำนักโพลล์พิจารณาเรื่องนี้ในการเลือกตั้งครั้งหน้าว่าสมควรหรือไม่ที่จะทำ Exit Poll" ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าว

"โฆสิต"แถลงขอบคุณปชช.กทม.ที่ลงคะแนนให้ ระบุคะแนนที่ออกมาชี้ให้ว่าคนกทม.ยังไม่ก้าวจากความขัดแย้ง


3 มีนาคม 2556 Bangkok Election - นายโฆสิต สุวินิจจิต ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. หมายเลข 10 ได้แถลงข่าวขอบคุณประชาชนชาวกทม. และสื่อมวลชนที่ให้ความสนใจกับผู้สมัครอิสระ และลงคะแนนเสียงให้ ที่ผ่านมาตลอด 45 วันได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากประชาชน อย่างไรก็ตามการลงพื้นที่หาเสียงก็ทำให้ได้รับข้อมูลเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาให้ชาวกทม.อย่างแท้จริง วันนี้พลังเงียบอาจมีอุปสรรคในการเดินทางเพราะฝนตกตลอด แต่เชื่อว่าหากได้รับโอกาสจากพี่น้องประชาชนก็จะสามารถแก้ไขปัญหาแก่คนกทม.ได้
ส่วนความคาดหวังต่อคะแนนเสียงเลือกตั้งนั้น ตนไม่ได้คาดหวังตั้งแต่แรก ผลจะออกมาในรูปแบบใดก็พร้อมจะยอมรับ ซึ่งในการลงสมัครฯครั้งนี้ถือว่าได้ทำหน้าที่ของการเป็นชาวกทม.อย่างเต็มที่แล้ว เมื่อรู้ว่ากทม.มีปัญหาแล้วเชื่อว่าจะสามารถแก้ไขได้ก็ตัดสินใจลงสมัคร แม้ว่าจะมีพี่น้องเพื่อนพ้องเตือนว่าอย่าเลย แต่ก็ต้องลองสักครั้งเพื่อให้เห็นถึงความพยายาม

นายโฆสิต กล่าวต่อว่า คงต้องรอดูผลคะแนนที่แท้จริง แต่ก็ลุ้นให้คะแนนให้กับผู้สมัครอิสระทุกคนให้ได้มากกว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา รวมกันอย่างน้อย 500,000 คะแนนเพื่อเป็นการพิสูจน์ว่า คนกทม.เบื่อปัญหาความขัดแย้งจากสองพรรคใหญ่ โดยต้องการผู้สมัครอิสระมาบริหารช่วยแก้ไขปัญหาให้ ทั้งนี้เวลา 45 วันไม่เพียงพอต่อการหาเสียง หากคนกทม.ยังคงยึดติดกับระบบสองพรรคใหญ่
ดังนั้นขอให้ทั้ง 2 พรรค หันมาให้ความร่วมมือกันบริหารกทม.ร่วมแก้ไขปัญหาเพื่อพัฒนากรุงเทพฯ รองรับการเป็นเมืองหลวงอาเซียน แต่หากผลโพลพลิก ไม่ว่าผู้สมัครอิสระท่านใดจะชนะ ก็พร้อมจะให้ความสนับสนุนแต่ไม่ขอเข้าร่วมทีมทำงาน เพราะจะขัดกับความคิดเดิมที่ต้องการให้ กทม.ปลอดจากพรรคการเมือง อย่างไรก็ตามหากคะแนนเสียงจากพี่น้องประชาชนให้การตอบรับดีพอสมควร ก็คงจะมีก้าวต่อไปสำหรับเส้นทางการเมืองในครั้งต่อไป

กกต.กทม.เตรียมหารือปลัดกทม. หลังพบปัญหาเรื่องรายชื่อเกือบ 7,000 รายชื่อ


3 มีนาคม 2556 Bangkok Election - นายสุพจน์ ไพบูลย์ กรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (กกต.กทม.) เปิดเผยว่าหลังจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ว่ากกต.กทม. เตรียมหารือกับนางนินนาท ชลิตานนท์ ปลัดกทม. เกี่ยวกับรายชื่อในทะเบียนราษฎรหลังจากที่พบว่ามีปัญหาถึงเกือบ 7,000 รายชื่อ อาทิ บุคคลที่เสียชีวิตไปแล้วแต่ยังมีชื่อเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง, รายชื่อหายจากรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง, มีชื่อไปอยู่ในเขตพื้นที่เลือกตั้งอื่น เป็นต้น
ส่วนกรณีที่มีสื่อมวลชนรายงานว่า มีชื่อนายปรีชา เอี่ยมสะอาด เป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งซ้ำกัน 4 เขต ได้แก่ เขตคลองเคย, เขตหนองแขม, เขตบางแค และเขตสายไหมนั้นตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ใช่คนเดียวกัน เนื่องจากหมายเลขบัตรประชาชน และ วันเดือนปีเกิด ไม่ตรงกัน และเมื่อตรวจสอบชื่อดังกล่าวจากสารบบทั่วประเทศพบว่ามีคนที่ชื่อและนามสกุลเดียวกันถึง 33 คน ดังนั้นประเด็นเรื่องชื่อผีนั้น ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้
รายงานข่าวแจ้งว่าสำหรับปัญหารายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง เกือบ7,000 รายชื่อนั้น ก่อนการประกาศรายชื่อของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ได้มีการตรวจสอบและจำหน่ายชื่อออกไปทั้งหมดแล้ว แต่เมื่อถึงวันเลือกตั้งกลับพบว่ารายชื่อที่มีปัญหาดังกล่าวมีเกิดขึ้มาอีก โดยชื่อที่มีปัญหามากที่สุด คือ เขตหลักสี่

ผอ.กต.กทม.ระบุ พบเรื่องผิดกฎเลือกตั้ง 10 ราย ชี้สามารถร้องเรียนการทำผิด ได้ภายใน 30 วัน


3 มีนาคม 2556 Bangkok Election - นายวีระ  ยี่แพร  ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (ผอ.กต.กทม.) เปิดเผยว่า ภาพรวมตั้งแต่คืนก่อนเลือกตั้งจนถึงขณะนี้ พบมีการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง 10 ราย คือ จำหน่ายสุรา 8 ราย ทำลายป้ายหาเสียง 1 รายและฉีกบัตรเลือกตั้ง 1 ราย  โดยเหตุอื่นนอกเหนือจากนี้ยังไม่มีแจ้งร้องเรียนเข้ามาที่ กกต.กทม.  อย่างไรก็ตามมีประชาชนได้โทรศัพท์สอบถามข้อมูลการเลือกตั้งมาที่สายด่วน 1171 ของกกต. ประมาณกว่า 100 ราย ส่วนใหญ่จะสอบถามเรื่องหน่วยเลือกตั้งที่จะไปใช้สิทธิ  รวมทั้งกรณีไม่พบรายชื่อ  หรือมีชื่อคนอื่นเข้ามาในทะเบียนบ้าน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ให้คำแนะนำในแต่ละกรณีไปแล้ว  อย่างไรก็ตามสำหรับเรื่องร้องเรียนการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งนั้น หลังจากวันเลือกตั้ง 3 มี.ค.ไปแล้ว สามารถมาร้องเรียนเข้ามาได้ซึ่งตามกฎหมายเปิดให้ร้องเรียนได้ภายใน 30 วัน

กกต.กทม.คาด ทราบผลเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ไม่เกิน 20.00 น. รับเหตุฝนตก ทำยอดผู้มาใช้สิทธิ เหลือ 60%


3 มีนาคม 2556 Bangkok Election –   พล.ต.ท.ทวีศักดิ์ ตู้จินดา ประธานกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (กกต.กทม.) พร้อมด้วย นายจุมพล สำเภาพล รองปลัดกรุงเทพมหานคร และ พ.ต.อ.สามารถ ตู้จินดา ผกก.สน.บางกอกใหญ่ ลงพื้นที่ตรวจสอบหน่วยเลือกตั้งที่ 5 และหน่วยเลือกตั้งที่ 6 แขวงวัดอรุณ สำนักงานเขตบางกอกใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่คู่กันบริเวณเต็นท์ลานจอดรถ สน.บางกอกใหญ่ เพื่อตรวจตราความเรียบร้อยของประชาชนผู้มีสิทธิ์ใช้เสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หลังเกิดพายุฝนถล่มลงมาอย่างหนักในหลายพื้นที่

พล.ต.ท.ทวีศักดิ์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าวันนี้ ตนลงพื้นที่ไปตรวจตราหน่วยเลือกตั้งแล้ว จำนวน 9 แห่ง ประกอบด้วย หน่วยเลือกตั้งในฝั่งพระนคร 5 แห่ง และหน่วยเลือกตั้งในฝั่งธนบุรีอีก 4 แห่ง เบื้องต้นไม่พบอุปสรรคที่ทำให้เกิดปัญหาใหญ่โต นอกจากความเข้าใจสับสน คลาดเคลื่อนของประชาชน ที่เดินทางไปใช้สิทธิผิดหน่วยเลือกตั้ง ทำให้ต้องย้ายไปกากบาทในคูหาที่ถูกต้อง ซึ่งแต่ละหน่วยอยู่ไม่ไกลกันมากอยู่แล้ว ส่วนยอดผู้ออกมาใช้สิทธิ ซึ่งก่อนหน้านี้ประมาณเอาไว้ว่า น่าจะมีกว่า 70% แต่ในวันนี้มีพายุฝนเกิดขึ้น จึงคาดว่าจะเหลือกว่า 60% อย่างไรก็ตาม ทางกรมอุตุนิยมวิทยาก็ได้กระจายข่าวสารให้ประชาชนระวังฝนฟ้าคะนองเอาไว้แล้ว ทำให้พบภาพประชาชนบางหน่วยเลือกตั้งที่ติดตามข่าวพากันไปออรอกันใช้สิทธิใช้เสียงจำนวนมาก ตั้งแต่ 07.00 น.ที่ผ่านมา

พล.ต.ท.ทวีศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับปัญหาการลงคะแนนนั้น ยังไม่ได้รับรายงานเนื่องจากมีการอบรมกระบวนการและขั้นตอนการปฏิบัติให้เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งแต่ละแห่งทำความเข้าใจกันดีแล้ว เชื่อว่าเวลา 18.00 น.วันนี้ ก็จะสามารถเปิดหีบนับคะแนนได้เลยในทุกพื้นที่ ส่วนปัญหาที่มักเกิดขึ้นขณะเปิดหีบนับคะเเนนในทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งที่ผ่านมาพบว่า มักมีการถกเถียงเรื่องบัตรดีและบัตรเสีย ทาง กกต.กทม.จึงเตรียมแก้ไขปัญหาเอาไว้ โดยนำเอาโปสเตอร์แสดงลักษณะของบัตรดีและบัตรเสียไปติดตั้งตามหน่วยเลือกตั้งให้เห็นเด่นชัด เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ไม่เกินเวลา 20.00 น. ผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ ก็น่าจะส่งเข้าไปแสดงที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครเป็นที่เรียบร้อย

 "หลังจากที่มีการเปิดหีบนับคะแนนเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยผลของคะแนนทั้งหมด จะถูกส่งจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร และถูกส่งต่อไปที่ กกต.ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร ซึ่งมี พล.ร.ท.ณรงค์ ชโลธร เป็นประธานทำการตรวจตราและพิจารณาปัญหา จากนั้นจะถูกส่งมาที่ กกต.กรุงเทพมหานคร อีกครั้งในช่วงเวลาประมาณ 13.00 น. วันที่ 4 มี.ค.นี้ ซึ่งในวันที่ 5 มี.ค. ก็จะมีการประชุมร่วมกันอีกรอบ หากไม่พบปัญหาใดๆ เชื่อว่าจะประกาศรับรองผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ทันทีในช่วงเย็นวันเดียวกัน" พล.ต.ท.ทวีศักดิ์ กล่าว.

วันศุกร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2556

นโยบายความปลอดภัย : พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ หลมายเลข 9


ด้านการรักษาความปลอดภัยในกรุงเทพฯ ของ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ  ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หมายเลข9 พรรคเพื่อไทยตลอดช่วงการหาเสียงที่ผ่านมา  ที่ได้เปิดรายละเอียดนโยบายด้านการรักษาความปลอดภัยในกรุงเทพฯ ด้วยยุทธศาสตร์การทำงานที่ยังดำรงไว้เรื่อง "ไร้รอยต่อ"  เพราะมั่นใจว่าการแก้ไขปัญหาให้คน กทม.จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  และต้องดำเนินการทันที จึงมีนโยบายตั้งศูนย์เฝ้าระวังภัย กทม. ทั้งอาชญากรรม อัคคีภัย และยาเสพติด เอ็กซเรย์ทุกพื้นที่ 24 ชั่วโมง  เพื่อป้องกันและแบ่งเบาความกังวลใจให้กับประชาชน  เนื่องจาก กทม.มีพื้นที่เสี่ยงหลายพื้นที่ ในแต่ละปีมีคดีอาชญากรรมมากกว่าแสนคดี  กทม.จะเป็นฐานข้อมูลกลางที่เชื่อมโยงข้อมูลมาจากกล้องทั้งภาครัฐและเอกชน






      นโยบายด้านความปลอดภัยโดยตั้ง Bangkok Surveillance Center ทำหน้าที่เป็นศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัย 24 ชม.โดยจะประสานเชื่อมสัญญาณภาพจากกล้อง CCTV ทั้งของภาครัฐ เอกชน และประชาชนเพื่อเฝ้าระวังรอบด้าน แก้ไขปัญหาอาชญากรรมทั้งหมดจะเชื่อมโยงโดยมีการตั้ง “ศูนย์เฝ้าระวังอาชญากรรม ยาเสพติด อัคคีภัย และภัยพิบัติ”
      นโยบายการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทั้งหมดจะเชื่อมโยงโดยมีการตั้ง “ศูนย์เฝ้าระวังอาชญากรรม ยาเสพติด อัคคีภัย และภัยพิบัติ” หรือ Bangkok Surveillance Center ทำหน้าที่เป็นศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัย 24 ชม.โดยจะประสานเชื่อมสัญญาณภาพจากกล้อง CCTV ทั้งของภาครัฐ เอกชน และประชาชนเพื่อเฝ้าระวังรอบด้าน
      เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยโดยการจัดทำ Bangkok Crime Map แสดงตำแหน่งอาชญากรรมทั่ว กทม.โดยการเก็บข้อมูลสถิติจุดเสี่ยงใน กทม.เพื่อวางแผนร่วมกับหน่วยงานรัฐจัดโซนนิ่ง พื้นที่เสี่ยงและพื้นที่ปลอดภัยเพื่อวางกำลังเจ้าหน้าที่ให้เหมาะสม ถือเป็นระบบการพยากรณ์อาชญากรรมที่อาจจะเกิดขึ้นในแต่ละจุดของ กทม.นอกจากนี้จะสร้างเครือข่ายอาสาสมัครเพื่อความปลอดภัย 1 แสนคน โดยการจัดอบรมกลุ่มมอเตอร์ไซต์รับจ้าง คนขับรถแท็กซี่ หรือประชาชนที่ประกอบอาชีพเก็บขยะให้มีคุณภาพเท่ามาตรฐานสากล ให้ช่วยสอดส่องปัญหาอาชญากรรมเสมือนเป็นซีซีทีวีภา
        พัฒนาระบบข้อมูลความปลอดภัยและ Bangkok Crime Map จัดทำแผนที่แสดงตำแหน่งอาชญากรรมทั่วกรุงเทพฯ เพื่อให้เข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุได้อย่างรวดเร็ว และเก็บข้อมูลสถิติอาชญากรรมเพื่อวางแผนดูแลความปลอดภัยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอย่างไร้รอยต่อ และวางโซนนิ่งพื้นที่เสี่ยง พื้นที่ปลอดภัยในการวางกำลังเจ้าหน้าที่อย่างเหมาะสม
Bangkok Surveillance Center ทำหน้าที่เป็นศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัย 24 ชม.โดยจะประสานเชื่อมสัญญาณภาพจากกล้อง CCTV ทั้งของภาครัฐ เอกชน และประชาชนเพื่อเฝ้าระวังรอบด้าน
      ปรับปรุงระบบกล้องวงจรปิดใหม่ทั้งหมดให้กล้องทุกส่วน ทั้งบ้าน อาคาร บริษัท หน่วยงานรัฐ หรือตามสี่แยกใน กทม.มาเชื่อมข้อมูลเป็นจุดเดียวกันที่ศูนย์เฝ้าระวังอาชญากรรมฯ โดยจะนำซอฟแวร์รูปแบบใหม่จากต่างประเทศมาใช้เพื่อหารูปพรรณ สัณฐานคนร้ายด้วย โดยการใส่ข้อมูลของคนร้ายที่เคยก่ออาชญากรรม หลังจากนี้กล้องทุกตัวที่เชื่อมโยงกับศูนย์จะมีระบบคอมพิวเตอร์ประเมินรูปพรรณคนร้าย หากมีความคล้ายคลึงกัน จะประสานทางเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการทันที ถือเป็นการเฝ้าระวังก่อนที่ภัยจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
          จะสร้างเครือข่ายอาสาสมัครเพื่อความปลอดภัย 1 แสนคน โดยการจัดอบรมกลุ่มมอเตอร์ไซต์รับจ้าง คนขับรถแท็กซี่ หรือประชาชนที่ประกอบอาชีพเก็บขยะให้มีคุณภาพเท่ามาตรฐานสากล ให้ช่วยสอดส่องปัญหาอาชญากรรมเสมือนเป็นซีซีทีวีภาคมนุษย์รายงานข้อมูลที่พบเห็นเข้าศูนย์เฝ้าระวังได้ตลอด 24 ชม
         ด้านยาเสพติด สนับสนุนการขยายโครงการชุมชนอุ่นใจได้ลูกหลานกลับคืน ให้ครบทุกชุมชนที่มีการแพร่ระบาดของยาเสพติด ให้โรงเรียน กทม.ทุกแห่งเป็นโรงเรียนสีขาวปลอดยาเสพติดอย่างสิ้นเชิง ปรับปรุงสภาพแวดล้อมในชุมชนเสี่ยงให้มีลานกีฬา หรือลานกิจกรรมสำหรับเยาวชน ให้โรงพยาบาลสังกัด กทม.ทุกโรงเป็นศูนย์ฟื้นฟูและบำบัดผู้เสพยาฟรี เพื่อให้ได้บำบัดรักษาอาการบริเวณใกล้บ้านได้

          ติดตั้งจีพีเอสบนรถสาธารณะทุกคันด้วยงบ กทม. ประสานติดกล้องซีซีทีวีบนรถเมล์ ขสมก. ประสานเชื่อมซีซีทีวีกับบีทีเอส เอ็มอาร์ที และบีอาร์ที เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยให้กับผู้โดยสาร

          ด้านอัคคีภัย จะเพิ่มจำนวนสถานีดับเพลิงให้ครอบคลุมเขตชุมชนและตึกสูง เพิ่มบุคคลากร รถดับเพลิง อุปกรณ์ต่างๆ ให้เหมาะสมเพียงเพิ่มอุปกรณ์ดับเพลิงอาคารสูง ซื้อเฮลิคอปเตอร์ดับเพลิง เข้าดับเพลิงอาคารสูงที่รถดับเพลิงไม่มีศักภาพเพียงพอ ประสานเฮลิคอปเตอร์จากหน่วยงานอื่นในการสำรวจที่เกิดเหตุและบริเวณใกล้เคียงทันที





ลดอาชญากรรมทุกประเภทลง 20% จาก 160,811 คดีในปี 55 เหลือ 128,648 คดี

ลดอาชญากรรมนักท่องเที่ยวต่างชาติ 50% จาก 233 คดีเหลือ 116.5 คดี

ลดอาชญากรรมเด็ก ผู้หญิง คนชรา 50% จาก 9,476 คดีเหลือ 4,738 คดี

ลดพื้นที่แพร่ระบาดยาเสพติด 30% จาก 1,010 ชุมชน เหลือ 707 ชุมชน

นำผู้เสพเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู 50% จากจำนวน 2 แสนคน เหลือ 1 แสนคน

และลดความสูญเสียจากเพลิงไหม้และภัยพิบัติต่างๆ โดยแก้ไขระบบให้สามารถเข้าถึงที่เกิดเหตุเร็วขึ้นกว่าเดิม 50%



วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ขั้นตอนการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม. 3 มี.ค 2556


27 กุมภาพันธ์ 2556 Bangkok Election –  วันอาทิตย์สุดสัปดาห์นี้แล้ว ที่ชาวกรุงเทพฯ จะได้ใช้สิทธิที่พิเศษกว่าจังหวัดอื่นใดในประเทศไทยในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครของเราเพื่อมาบริหารเมืองหลวงของเราให้พัฒนาก้าวหน้าต่อไป
ขั้นตอนในการเลือกตั้ง เบื้องต้นที่จะต้องเตรียมบัตรประจำตัวประชาชน หรือข้าราชการ หรือบัตรข้าราชการบำนาญ หรือบัตรที่ทางราชการออกให้ ซึ่งมีรูปถ่ายและหมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก หรือใบขับขี่ หรือหนังสือเดินทาง (passport) มาด้วยแล้ว
เมื่อถึงหน่วยเลือกตั้งก็ให้ไปตรวจสอบบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิว่าเราอยู่ในลำดับที่เท่าไหร่ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ประจำบอร์ดฯคอยอำนวยความสะดวกช่วยดูให้ จากนั้นก็ไปยังโต๊ะ เพื่อแสดงบัตรประจำตัวประชาชน และเซ็นชื่อในบัญชีรายชื่อผู้ใช้สิทธิ
เสร็จเรียบร้อยแล้วก็ไปยังโต๊ะรับบัตรเลือกตั้ง โดยเซ็นชื่อที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง จากนั้นเจ้าหน้าที่จะฉีกบัตรเลือกตั้งมอบให้
เราก็นำบัตรเลือกตั้งเข้าคูหา กากบาท ในช่องว่างหลังหมายเลขผู้สมัครที่ชื่นชอบ จากนั้นพับบัตรเลือกตั้ง นำมาใส่ในหีบบัตรด้านหน้า เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ
  
ในวันเลือกตั้งเพื่อป้องกันเหตุฉุกละหุกหรือต้องเสียเวลาต่อแถวยาว ควรมาใช้สิทธิแต่เช้า หากมาบ่ายหรือเวลาจวนเจียน เกิดมีคนมาเยอะแถวยาวพอหมดเวลา 15.00 น. ก็เป็นอันอดลงคะแนน อดใช้สิทธิของให้เราสมกับความตั้งใจ เตรียมตัวเตรียมเอกสารให้พร้อม และจำหมายเลขผู้สมัครที่ชื่นชอบให้ขึ้นใจ แล้วออกไปใช้สิทธิกัน.

“พงศพัศ” หาเสียงตลาดบางจาก-พระขโนง ประชาชนแห่รับล้มหลาม


27 กุมภาพันธ์ 2556 Bangkok Election –  พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย ลงพื้นที่หาเสียงโค้งสุดท้าย บริเวณตลาดบางจาก ใน ซ.สุขุมวิท 93-95 เขตพระโขนง โดยก่อนลงพื้นที่พบปะประชาชน ได้ทำบุญใส่บาตร และแวะรับประทานข้าวมันไก่ จากนั้นได้เดินหาเสียงกับประชาชน ตลอดจนพ่อค้าแม่ค้าภายในตลาด และบนสถานีรถไฟฟ้าบางจาก ซึ่งมีประชาชนให้ความสนใจนำดอกกุหลาบมามอบให้ และขอถ่ายภาพด้วยจำนานมาก


อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากลงพื้นที่บริเวณตลาดบางจากแล้ว พล.ต.อ.พงศพัศ จะลงพื้นที่หาเสียงกับพนักงานที่โรงงานผลิตกางเกงยีนส์ชื่อดังแห่งหนึ่ง ก่อนที่ในช่วงบ่าย จะเข้าไปที่พรรคเพื่อไทย เพื่อแถลงนโยบายประจำสัปดาห์ ซึ่งวันนี้เป็นวันสุดท้ายที่จะแถลงนโยบาย ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง โดยนโยบายที่จะแถลง คือ นโยบายสร้างความหวังให้คน กทม. โดยจะอธิบายกระบวนการ "สร้างเครือข่ายใยแมงมุมแห่งโอกาส" ว่า กทม. จะดึงจุดเด่นของพื้นที่ กทม. ในแต่ละโซนขึ้นมา เพื่อสร้างช่องทางการหารายได้รูปแบบใหม่ๆ ได้อย่างไร และมีวิธีการอย่างไรที่จะปกป้องการคงอยู่ของธุรกิจดั้งเดิมในชุมชน โดยที่ยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่เป็นคนรุ่นใหม่ได้เติบโต 

วันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

4 ปีไม่เคยแก้ ? เครือข่ายสลัม4ภาค ยื่น 6 ข้อ "สุขุมพันธุ์ แก้


26 กุมภาพันธ์ 2556 Bangkok Election –  เครือข่ายสลัม 4 ภาค ซึ่งเป็นการรวมตัวของคนจน เมืองในชุมชนแออัด และคน เร่ร่อนไร้ที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะ พื้นที่กรุงเทพมหานคร กว่า 6 เครือข่าย 50 ชุมชน ใน 40 เขต กทม. ได้เข้ายื่นหนังสือต่อม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้สมัครผู้ว่า กทม.จากพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเสนอมาตรการและนโยบายในการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนเมืองต่อผู้ว่าผู้ว่ากทม. คนใหม่จำนวน 6 ข้อ คือ
1. แก้ไขปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย ให้เกิดความมั่นคงในที่อยู่ อาศัย มีการรับรองสิทธิ ในรูป แบบโฉนด กรณีที่ดินสาธารณะริม คลอง ยกเลิกนโยบายไล่รื้อที่พัก ชุมชน ด้วยมาตรการกฎหมาย หรือใช้ความรุนแรง กทม.ผ่อนปรนการออกทะเบียนบ้านในโครงการที่อยู่อาศัยคนจน ตามเจตนารมณ์กฎกระทรวง ในพ.ร.บ.ควบคุมอาคารด้วย
2.พัฒนา และยกระดับคุณภาพชิวิตคนจนเมือง เช่น การจัดสรรพื้นที่ค้าขาย ดูแลให้กลุ่มอาชีพ ของชุมชน ในสัดส่วน ร้อยละ 30 ของแหล่งค้าขายในกทม.
3. ให้มีนโยบายพัฒนาศักยภาพเยาวชน โดยขอให้มีพื้นที่เรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกห้องเรียน
4.สร้างเมืองให้ปลอดภัย ทั้งเรื่องการจราจร การบริการสาธารณะ สุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
5. สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน โดยขอให้มีคณะกรรมการในการพัฒนาคุณภาชีวิตของคนไร้บ้าน ที่เป็นกลไกร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน จัดพื้นที่ในการขายของให้คนไร้บ้าน จัดห้องน้ำสาธารณะตามจุดต่างๆ ออกบัตรประจำตัวชั่วคราวรับรองคนไร้บ้าน เป็นต้น และ
6. กลไกความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาโดยตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่าง กทม.หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เครือข่ายสลัม 4 ภาค องค์กรภาคเอกชน โดยมี ผู้ว่ากทม. เป็นประธาน

ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ กล่าวภายหลังการรับหนังสือว่า ตนพร้อมรับข้อเสนอ เพราะเป็นนโยบายที่สอดคล้องกับตน และพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งเรื่อง ที่พักอาศัย ความปลอดภัยของ ชุมชน โดยพรรคมีนโยบายติดตั้ง กล้อง CCTV เพิ่ม 27,000 ทุก ตรอก ซอย ในกทม. รวมถึง นโยบายสตรี มีการให้บริการตรวจ สุขภาพฟรี ซึ่งไม่ใช่เพียงผู้มีสิทธิ ประกันสังคม แต่ครอบคลุมผู้ไม่มี สิทธิ์ด้วย อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง จึงไม่สามารถรับข้อเสนอเป็นการ เฉพาะได้ แต่ยืนยันหากได้รับ เลือกตั้ง จะหยิบยกเรื่องนี้มาพูด คุย เพราะกทม.จะเลือกดูแลไม่ได้ เพราะต้องครอบคลุม เท่าเทียม กัน

“มาร์ค-หม่อม” ร่อนจดหมาย-รุกเคาะบ้าน ขอคะแนนเสียงหวังแหกโค้งสุดท้ายชนะ


26 กุมภาพันธ์ 2556 Bangkok Election –  ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ของพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า ในวันนี้พรรคประชาธิปัตย์ จะแจกจดหมายเปิดผนึกจากใจถึงใจไปสู่ชาวกทม. ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. ของพรรค ซึ่งรายละเอียดในจดหมายของม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จะเป็นการบอกกล่าวถึงความตั้งใจที่ได้ทำงานมาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา รวมถึงความมุ่งมั่นที่จะทำงานต่อไปอีก 4 ปีข้างหน้า และเรียกร้องขอโอกาสให้ได้มาทำงานต่อ ซึ่งมีงานสำคัญที่อยากจะทำต่อไปอีก ส่วนจดหมายของนายอภิสิทธิ์ จะมีเนื้อหาสาระที่แสดงถึงการที่พรรคประชาธิปัตย์ได้อยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับชาวกทม.  67 ปี

นายองอาจ กล่าวอีกว่า ในช่วง 4 วันหลังจากนี้ จะมีการหาเสียงอย่างเต็มที่จนถึงวินาทีสุดท้าย โดยจะเน้นการเคาะประตูบ้าน การเปิดเวทีปราศรัย รวมถึงขึ้นรถแห่ไปตามชุมชุนต่าง ๆ โดยในวันที่ 27 ก.พ. เวลา 09.00 น. มหาวิทยาลัยแสตมฟอร์ด ได้เชิญม.ร.ว.สุขุมพันธ์ ไปบรรยายพิเศษเป็นภาษาอังกฤษ ให้กับนักศึกษาที่มาสิทธิเลือกตั้ง เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ เกี่ยวกับมหานครแห่งอาเซียน จากนั้นเวลา 14.00 น. จะมีการเปิดตัวทีมงานผู้ทรงคุณวุฒิบริหารจัดการมหานคร ของม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ที่ร้านอาหาร Viva Aviv ในศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้ สี่พระยา ซอยเจริญกรุง 30 จากนั้นในช่วงเย็น จะจัดปราศรัย ที่ตลาดเพชรรัตน์ ใกล้วัดเทวะสุนทร เขตหลักสี่

ส่วนในวันที่ 28 ก.พ. จะมีเวทีปราศรัย 2 จุดคือ ที่บ้านสวนบางเขน ซอยพหลโยธิน 48 และเคหะชุมชนเอื้ออาทรบางเขน เขตสายไหม และในวันที่ 1 มี.ค. จะเป็นการปราศรัยใหญ่ปิดท้ายที่สวนเบญจศิริ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับจดหมายเปิดผนึกของนายอภิสิทธิ์ เป็นการพูดถึงความมุ่งมั่นของม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ที่ทำงานร่วมทุกข์ร่วมสุขกับคนกทม.มา 4 ปี จึงอยากให้คนกทม.ให้การสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ และม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ อีกครั้ง โดยมีข้อความทิ้งท้ายว่า อำนาจในมือพี่น้องยิ่งใหญ่กว่าอำนาจรัฐ และอำนาจเงิน ผมมั่นใจ และเคารพในการตัดสินใจของพี่น้องเสมอครับ


ขณะที่จดหมายของม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เป็นการแสดงถึงความภูมิใจที่ได้ทำงานในฐานะผู้ว่าฯกทม. มาแล้ว 4 ปี และขอโอกาสในการสานงานต่อ พร้อมเชิญชวนให้ชาวกทม.ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 3 มี.ค. ซึ่งจะเป็นการชี้ชะตาอนาคตของคนกทม. และประเทศไทย โดยเชื่อว่า คนกทม.ไม่ต้องการให้ใครมาชี้นำทางด้านความคิด ดังนั้นเมื่อเข้าคูหาคนกทม. ถือเป็นเจ้านายของตัวเอง และหากเลือกตนมาทำงานต่อ นอกจากคนกทม. จะได้ชื่อว่าเป็นนายของตัวเองแล้ว ยังมีคนรับใช้ชื่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ด้วย  โดยมีสโลแกนทิ้งท้ายว่า รักกรุงเทพฯ มาร่วมพากรุงเทพฯ เดินหน้าต่อด้วยกันนะครับ”.

พท.กำชับ ส.ส. ยกพรรคจับตาโกงเลือกตั้ง เผยป้ายถูกทำลาย 3 พันป้าย วอนคู่แข่ง หาเสียงสร้างสรรค์ อย่าทำลายป้าย-ใส่ร้ายกันเลย


26 กุมภาพันธ์ 2556 Bangkok Election – ที่พรรคเพื่อไทย นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงผลการประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทยว่า พรรคมีมติให้ ส.ส.ทั้ง 265 คน ทำงานร่วมกับทีมเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ของพรรค ในวันที่ 2 และ 3 มี.ค.นี้ โดยให้ส.ส. 5 คนไปประจำตามเขตทั้ง 50 เขต พร้อมทั้งมีผู้ช่วยด้วย รวมแล้วเขตละ 10 คน ทั้งหมด 50 เขตเท่ากับ 500 คน คอยจับตาดูและทักท้วงหากเกิดความผิดปกติ และดูเรื่องของการติดตั้งป้ายหาเสียงใกล้กับคูหาเลือกตั้งใกล้กว่า 100 เมตรที่จะผิดกฎหมายหรือไม่

สำหรับช่วงโค้งสุดท้ายนั้น นายกรัฐมนตรีจะใช้เวลานอกราชการลงช่วยหาเสียงอย่างหนักหน่วง โดยช่วงเช้าเวลา 05.00-08.00 น. และช่วงเย็น 17.00-21.00 น. โดยในวันที่ 1 มี.ค. ช่วงเช้านายกรัฐมนตรีจะไปดูการไขแก้ปัญหาน้ำท่วมที่เขตคลองสามวา จากนั้นในช่วงเย็นนายกรัฐมนตรีจะเดินทางร่วมไปร่วมปราศรัยใหญ่ที่สวนลุมพินี ทั้งนี้ ในวันที่ 27 ก.พ. ที่พรรคเพื่อไทยจะมีการเปิดแคมเปญใหม่ของผู้สมัครในเวลา 16.30 น. อย่างไรก็ตาม พรรคยังทราบข้อมูลเกี่ยวกับการทำลายป้ายหาเสียง โดยมีคลิปวิดีโอที่ถ่ายไว้ได้ เป็นเหตุการณ์การปลดป้ายในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งจะรวบรวมหลักฐานส่ง กกต.กทม.

ด้าน ร.ท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกศูนย์อำนวยการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคได้รับแจ้งจากประชาชนว่า ขณะนี้มีการใช้วิธีการสกปรกทำลายป้ายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยประมาณ 3,000 ป้าย ยังไม่นับรวมป้ายที่สูญหายที่เชื่อว่ามีอีกหลายพันป้าย ดังนั้น อยากวิงวอนคู่แข่งให้หาเสียงอย่างสร้างสรรค์ อย่าทำลายป้ายกันเลย นอกจากนี้ พรรคยังพบการหาเสียงแบบแปลกๆ เพื่อใส่ร้ายพรรคเพื่อไทย โดยมีการนำรถกระบะสีเข้ม ทะเบียนจังหวัดระยอง แต่ไม่ทราบหมายเลข มาแอบอ้างว่าเป็นรถหาเสียงของผู้สมัครหมายเลข 9 เข้าไปหาเสียงบริเวณซอยชินเขต เขตหลักสี่ และมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หยาบคาย ซึ่งจากการตรวจสอบนั้นไม่ใช่รถหาเสียงของพรรค น่าจะเป็นการแอบอ้างเพื่อตัดคะแนนผู้สมัครของพรรคมากกว่า สำหรับยุทธศาสตร์หาเสียงช่วงโค้งสุดท้ายนั้น พรรคยังยืนยันแนวทางเดิมคือ เน้นนำเสนอนโยบาย ไม่ตอบโต้ ไม่โจมตีฝ่ายตรงข้าม แต่การหาเสียงจะเข้มข้นมากกว่าเดิม.