15 ธันวาคม 2556 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.20 น. ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
ซึ่งได้รับหมอบหมายจาก นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม
ดำเนินการจัดเวทีปฏิรูปเพื่อหาทางออกให้ประเทศ กล่าวเปิดการสัมมนาระดมความเห็น “ประเทศไทยของเราจะไปทางไหน” เพื่อหารือร่วมกับทุกภาคส่วนในการหาทางออกของประเทศ
นายธงทอง กล่าวว่า “ที่มาของกิจกรรมวันนี้ ทุกท่านคงทราบดีว่าบ้านเมืองของเรา
จะพูดว่าอยู่ในสภาวะวิกฤติก็คงไม่ผิด 2-3 วันที่ผ่านมาถือเป็นสัญญาณที่ดีที่มีการเปิดให้พูดคุยกัน
เช่นเดียวกัน ผมได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีซึ่งได้แสดงต่อสาธารณะไปว่ารัฐบาลเองก็อยากจะมีเวทีสักเวทีขึ้นมา
ซึ่งในถ้อยแถลงของนายกฯได้มอบหมายให้มาเป็นผู้ประสานงาน”
“การพูดคุยวันนี้ไม่ได้กำหนดว่าต้องมีประธาน หรือมีการโหวตลงมติแพ้ชนะกัน ตนทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการเพื่อให้ทุกคนได้มีการพูดคุย
แสดงความคิดความเห็น ซึ่งในพื้นที่ที่จำกัด ก็พยายามเชิญกลุ่มที่มีบทบาทในกระบวนการทางการเมือง
อาทิ 7 องค์กรธุรกิจ ข้าราชการ กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง และที่ขาดไม่ได้คือพรรคการเมืองต่างๆ
ผู้แทนองค์กรศาสนา พุทธสมาคม สถาบันทางวิชาการ สถาบันพระปกเกล้า สภาพัฒนาการเมือง ทำให้องค์ประกอบอยู่ที่ประมาณ
90 คน” นายธงทองกล่าว
ประเด็นปัญหาที่เป็นข้อถกเถียงทุกวันนี้ คือ มีพระราชกฤษฎีกา และกำหนดวันเลือกตั้ง
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ขณะที่ความเห็นของ กปปส. เห็นว่ายังไม่ควรมีการเลือกตั้ง ควรเลื่อนออกไปก่อน
อีกความเห็นคือการเลือกตั้ง 2 ก.พ. เมื่อเป็นพระราชกฤษฎีกา เป็นกฏหมายแล้วก็เดินหน้าไป
แต่ต้องมีกลไกอื่นในการเสริมความซื่อสัตย์สุจริต และต้องทำเป็นจังหวะขั้นตอนอย่างไร
ส่วนอะไรจะทำก่อนหรือหลังก็มาถกเถียงกันก็แล้วกัน โดยในรอบแรก ขอให้แสดงความเห็นท่านละ
5 นาที
ด้านนายวีระพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ กล่าวตอนหนึ่งว่า “ข้อเสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อนนั้นไม่สามารถทำได้
เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ และในรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้รัฐบาลยุบสภาฯ แล้วต้องจัดการเลือกตั้งภายใน
45-60 วัน เพื่อป้องกันไม่ให้นักการเมืองเลื่อนการเลือกตั้งเพื่อประโยชน์ของตนเอง
ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้สามารถทำให้โปร่งใสได้โดยไม่ต้องรอให้มีสภาประชาชนขึ้นมาตามที่
กปปส. อ้าง โดยใช้มาตรา 25 ของกฎหมายประกอบการเลือกตั้ง ที่เปิดโอกาสให้บุคคลและภาคเอกชนส่งตัวแทนเข้าร่วมสังเกตการณ์เลือกตั้ง
หากพบการกระทำความผิด ระเบียบของ กกต. สามารถลงโทษได้ถึงขั้นยุบพรรค”
“สำหรับแนวทางปฏิรูปที่ง่ายที่สุดคือจัดการเลือกตั้งและให้รัฐบาลใหม่อยู่บริหารงาน
เพียง 2 ปี และยุบสภาฯ ในระหว่างนั้นรัฐบาลต้องวางกลไกการปฏิรูปประเทศ
เพื่อผูกมัดระหว่างทุกชุดในการหาทางออกประเทศ ซึ่งแนวทางสภาประชาชนจะมาในรูปแบบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ อาจตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจที่ให้มีทุกภาคส่วน หรืออาจเชิญฝ่ายค้านและคู่ขัดแย้งเข้าร่วมรัฐบาลหรือสภาฯ
ด้วย” นายวีระพัฒน์กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีนักกฎหมาย นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิ อีกมากมายที่มาร่วมงานเสวนาในครั้งนี้
อาทิ พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช กรรมการข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิ นายสมบัติ บุญงามอนงค์
กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ
(นปช.) นายณพงศ์ นพเกตุ นักวิชาการอิสระ ฯลฯ ซึ่งผู้ร่วมเสวนาส่วนใหญ่เห็นด้วยว่า การเลือกตั้งในวันที่
2 ก.พ. 2557 จะเป็นทางออกของประเทศไทย